Art inside BEEF งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรงแห่งปี “คนหัวร้อน” | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

Art inside BEEF

งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรง แห่งปี “คนหัวร้อน”

Writer: Panu Boonpipattanapong

  ณ นาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า “BEEF” ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ที่ผลิตโดยค่าย A24 จากฝีมือการสร้างสรรค์ของ อี ซองจิน (Lee Sung Jin) ผู้กำกับและเขียนบทซีรีส์ชาวเกาหลี ที่เล่าเรื่องราวของสอง “คนหัวร้อน” อย่าง แดนนี่ (สตีเว่น ยอน) ชายหนุ่มผู้รับเหมาชาวเกาหลี-อเมริกันอับโชค ผู้กำลังมีปัญหาทางการเงิน กับ เอมี่ (อาลี หว่อง) สาวนักธุรกิจชาวจีน-อเมริกัน เจ้าของกิจการร้านขายต้นไม้สุดหรู ผู้กำลังไต่เต้าจากการเป็นชนชั้นกลางระดับสูงไปเป็นเศรษฐีเงินล้าน โดยเริ่มต้นจากการสาดอารมณ์ใส่กันในเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบนท้องถนน (Road rage) ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องราวบานปลายฉิบหายวายป่วงกันถ้วนหน้าอย่างคาดไม่ถึง

  นอกจากบทและเนื้อหาที่เสียดสีตีแผ่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความดิ้นรน กระเสือกกระสน ปากกัดตีนถีบในการไล่ตามอเมริกันดรีม ของชาวเอเชียน-อเมริกันในสหรัฐอเมริกาได้อย่างแสบสันคันคะเยอ รวมถึงการแสดงอันจัดจ้านเข้มข้นของสองนักแสดงนำ และเหล่าบรรดานักแสดงสมทบทั้งหลายแล้ว องค์ประกอบที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือผลงานศิลปะและงานออกแบบหลากหลายชิ้นที่อยู่ในซีรีส์เรื่องนี้

  เริ่มต้นจากผลงานของ จอร์จ (โจเซฟ ลี) สามีของเอมี่ พ่อบ้านและประติมากรชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ทายาทผู้ไม่อาจก้าวพ้นร่มเงาของพ่อผู้เป็นศิลปินชื่อดังระดับตำนานผู้ล่วงลับ ประติมากรรมเซรามิกหน้าตาพิลึกพิลั่นที่จอร์จหมกตัวทำอยู่ในสตูดิโอชั้นใต้ถุนของบ้าน ทำให้เรานึกไปถึงผลงานของ เคนเนธ ไพรซ์ (Kenneth Price) ศิลปินชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงโดดเด่น เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมดินเผารูปทรงนามธรรมที่ดูคล้ายกับสิ่งมีชีวิตอันแปลกประหลาด นุ่มนิ่ม เลื่อนไหลหยดย้อย เขามักจะไม่เคลือบผิวประติมากรรมดินเผาของเขา หากแต่มักจะทาสีอะคริลิกทับซ้อนลงไปหลายชั้นอย่างประณีตบรรจง และค่อย ๆ ใช้กระดาษทรายขัดผิวหน้าออกเพื่อเผยให้เห็นชั้นสีที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ ดูๆ ไปผลงานประติมากรรมเซรามิกของจอร์จก็ดูละม้ายคล้ายคลึงกับผลงานประติมากรรมดินเผาของเคนเนธ ไพรซ์ อยู่ไม่น้อย

ผลงานประติมากรรมของจอร์จในซีรีส์ BEEF
ผลงานประติมากรรมของ เคนเนธ ไพรซ์, ภาพจาก matthewmarks.com/exhibitions/ken-price-09-2003
ผลงานประติมากรรมของ เคนเนธ ไพรซ์, ภาพจาก
www.lacma.org/art/exhibition/ken-price-sculpture-retrospective

  หากแต่ เกรซ ยุน (Grace Yun) โปรดักชันดีไซเนอร์ของซีรีส์เรื่องนี้กล่าวว่า ผลงานประติมากรรมเซรามิกของจอร์จในซีรีส์ นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากแผนผังภาพท่าโยคะแบบลายเส้นนามธรรม และคำถามที่ว่า “จอร์จจะทำอย่างไรถ้ามีเพลย์โดว์อยู่ในมือของเขา?” ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์และภาระทางเศรษฐกิจของจอร์จ เนื่องจากเขาไม่ต้องคิดว่างานเหล่านี้จะขายได้ไหม ซึ่งมันก็ขายไม่ได้จริง ๆ นั่นแหละ การที่จอร์จมีเวลาทำงานที่เขารักอย่างเสรีโดยไม่ต้องห่วงเรื่องทำมาหาเงิน ก็ทำให้เอมี่ที่ต้องรับผิดชอบภาระการเงินของครอบครัวรู้สึกอิจฉาเขาจนทำให้เกิดความร้าวฉานในชีวิตคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โจเซฟ ลี กับผลงานภาพวาดของเขา, ภาพจาก Netflix

  และถึงแม้ผลงานทั้งหมดของจอร์จ จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยทีมงานฝ่ายศิลป์ของซีรีส์ ไม่ใช่ฝีมือของ โจเซฟ ลี (Joseph Lee) นักแสดงชาวเกาหลี-อเมริกัน ผู้รับบทจอร์จเลยแม้แต่น้อย แต่ในชีวิตจริง ลีเองก็เป็นศิลปินร่วมสมัย ผู้ทำงานวาดภาพพอร์ตเทรตกึ่งนามธรรมหลากสีสัน ที่ใช้ฝีแปรงปาดสีทับซ้อนกันเป็นชั้นสีหนาหนักด้วยเทคนิค Impasto หรือการใช้สีหนา ๆ ป้ายลงไปบนผืนผ้าใบจนเห็นเป็นรอยฝีแปรงหรือรอยเกรียงปาดสีทิ้งเอาไว้ ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อมุ่งแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกภายใต้ใบหน้ามนุษย์ มากกว่าจะนำเสนอความเหมือนจริง ซึ่งปื้นสีและฝีแปรงเหล่านี้ก็บดบังใบหน้าทั้งหมดเอาไว้จนไม่อาจมองเห็นได้ชัดเจน ภาพวาดพอร์ตเทรตกึ่งนามธรรมเหล่านี้ของลี บางครั้งก็เปิดเผยนัยยะแฝงเร้นของดวงตา จมูก หรือหู ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปื้นสีและฝีแปรงหลากสีสัน และถึงแม้เราจะมองไม่เห็นใบหน้า แต่อารมณ์ความรู้สึกของแบบก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสีสันเหล่านี้ได้อย่างทรงพลัง
  ลีเริ่มต้นวาดภาพเพื่อเป็นช่องทางระบายความคิดสร้างสรรค์ในยามที่เขาไม่ผ่านออดิชั่นการแสดง และเป็นการปกป้องพลังความเป็นส่วนตัวของเขาในยามที่ทำการแสดงเป็นเวลายาวนาน

  ลีไม่เคยผ่านการเล่าเรียนศิลปะที่สถาบันไหนมาก่อน และมีพื้นเพจากงานแสดงละครเวที พฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่ได้รับจากการแสดงจึงเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีที่สุดในการวาดภาพของเขา กระบวนการในการสร้างสรรค์ของเขาคือการสร้างความพร่ามัว ด้วยการปิดสติการรับรู้และใช้สัญชาตญาณในการทำงานแทน เข้าไปชมผลงานอื่น ๆ ของเขาได้ที่เว็บไซต์ http://www.josephleeart.com/ และอินสตาแกรม https://www.instagram.com/joeyunlee/
นิทรรศการ 65 chairs ในซีรีส์ BEEF, ภาพจาก Netflix

  อีกฉากที่น่าจับตาในซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือฉากในนิทรรศการเก้าอี้ดีไซน์ 65 chairs กับเก้าอี้ดีไซน์ระดับตำนาน 65 ตัว ที่จัดแสดงในแกลเลอรีสุดหรู (ที่ตลกก็คือ ถึงแม้จะมีเก้าอี้วางอยู่หลายสิบตัว แต่ไม่มีตัวไหนนั่งได้สักตัว!) ทั้งเก้าอี้ Fanett โดย อิลมารี ทาปิโอวาร่า (Ilmari Tapiovaara), เก้าอี้ V-Type โดย ปิแยร์ เฌอเนอเรต์ (Pierre Jeanneret), เก้าอี้ CH24 Wishbone, เก้าอี้ PP19 Papa Bear และเก้าอี้ Ox โดย ฮานส์ เจ. เว็กเนอร์ (Hans J. Wegner), เก้าอี้ LC2 armchair โดย เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) เก้าอี้ Coconut โดย จอร์จ เนลสัน (George Nelson), เก้าอี้ Bubble โดย เอียโร อาร์นิโย (Eero Aarnio), เก้าอี้ Schaukelsessel No. 9 โดย พี่น้องโคห์นและโทเน็ท (Gebrüder Kohn & Thonet), เก้าอี้ Zig Zag โดย เกอร์ริต รีตเวลด์ (Gerrit Rietveld), เก้าอี้ S 533 Cantilever โดย ลุดวิก มีส์ ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe), เก้าอี้ Diamond ของ แฮรี เบอร์โตญา (Harry Bertoia), เก้าอี้ Platner Easy Chair ของ วอร์เรน แพลตเนอร์ (Warren Platner) และเก้าอี้ Eames Lounge โดย ชาร์ล และ เรย์ อีมส์ (Charles & Ray Eames) ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เก้าอี้ Tamago ที่ออกแบบโดย ฮารุ นากาอิ ศิลปินระดับตำนานผู้เป็นพ่อของจอร์จ เก้าอี้รูปทรงคล้ายไข่ (หรือ Tamago ในภาษาญี่ปุ่น) ที่โดนกัดแหว่งครึ่งซีกจนกลายเป็นที่นั่งตัวนี้ ซึ่งถูกกล่าวถึงในซีรีส์ว่าเส้นโค้งบนที่นั่งของเก้าอี้ ถูกออกแบบตามเส้นโค้งในสรีระของ ฟูมิ นากาอิ ภรรยาของฮารุ หรือแม่ของจอร์จนั่นเอง อันที่จริงดีไซน์ของเก้าอี้ตัวนี้ก็ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากเก้าอี้ Drop โดย อาร์น จาค็อบเซ่น (Arne Jacobsen) และเก้าอี้ Molded aluminum tripod โดย ปอล เคียโฮล์ม (Poul Kjærholm) นั่นแหละนะ

เก้าอี้ Tamago ในซีรีส์ BEEF, ภาพจาก Netflix
เก้าอี้ Tamago ในซีรีส์ BEEF, ภาพจาก Netflix

  นอกจากผลงานศิลปะและงานดีไซน์ในซีรีส์แล้ว ผลงานศิลปะที่โดดเด่นอย่างยิ่งอยู่ในรูปของภาพประกอบชื่อตอน (Title cards) ที่ปรากฏขึ้นในแต่ละตอน เพื่อบอกใบ้ถึงสถานการณ์ (หรือความฉิบหาย) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดี ภาพประกอบของแต่ละตอนนั้นเป็นภาพวาดที่ไม่ต่างอะไรกับผลงานศิลปะในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ โดยมีตัวหนังสือชื่อตอนที่ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับแต่ละภาพอย่างเหมาะเจาะลงตัว รวมถึงดนตรีประกอบที่ช่วยกระตุ้นเร้าบรรยากาศแห่งความไม่น่าไว้วางใจและความวายป่วงได้อย่างทรงพลัง ซึ่งภาพประกอบชื่อตอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สร้างซีรีส์อย่าง อี ซองจิน หมายมั่นจะทำตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มถ่ายทำซีรีส์นี้ด้วยซ้ำไป

Title card ep.1 ที่หยิบเอาภาพวาด A Meat Stall with the Holy Family Giving Alms (1551)
ของ ปีเตอร์ อาร์ตเซิน มาใช้, ภาพจาก Netflix

  “เมื่อผมเตรียมพรีเซนเทชันนำเสนอให้ผู้ลงทุนสร้างซีรีส์ ผมต้องการสร้างความประทับใจให้พวกเขาด้วยภาพประกอบชื่อตอนเด็ด ๆ โดน ๆ พอดีผมรักผลงานในศตวรรษที่ 16 อย่างภาพวาด A Meat Stall with the Holy Family Giving Alms (1551) (ของศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ ปีเตอร์ อาร์ตเซิน (Pieter Aertsen) ภาพวาดตลาดสดที่มีแผงขายเนื้อวัว (Beef) (อันเป็นสแลงที่หมายถึงการบันดาลโทสะใส่กันด้วย) และเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เรียงรายอยู่) ผมคิดว่าเนื้อหาในภาพวาดนี้เหมาะกับอารมณ์ของซีรีส์นี้เอามาก ๆ ”
  ในตอนแรก อี ซองจิน ตั้งใจจะใช้งานจิตรกรรมคลาสสิกที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ (Public domain) เป็นภาพประกอบชื่อตอนทั้งหมด 10 ตอนของซีรีส์ แต่เพื่อนสนิทของเขาอย่าง เดวิด​ โช (David Choe) ศิลปิน, นักดนตรี และนักแสดงชาวอเมริกัน ผู้รับบท ไอแซค ญาติตัวแสบของแดนนี่ในซีรีส์ ก็เสนอผลงานภาพวาดของตัวเองมาให้เขาใช้แทน ซึ่งภาพวาดเหล่านี้ไม่เคยถูกแสดงที่ไหน และยังไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน

Title card ep.2 - ep.5 ที่ใช้ภาพวาดของ เดวิด​ โช, ภาพจาก Netflix

  “โชอนุญาตให้ผมเลือกภาพวาดที่ผมคิดว่าเหมาะที่สุดสำหรับแต่ละตอน ผลงานของเขาโคตรเหมาะกับซีรีส์นี้มาก เพราะมันเต็มไปด้วยความบ้าคลั่งสุดขั้ว และอารมณ์อันยุ่งเหยิง ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา, ความต้องการ หรืออะไรที่น่าอัปลักษณ์และมืดมนยิ่งกว่านั้น”
  อี ซองจิน ยังกล่าวว่า ภาพวาดโปรดที่สุดของเขาคือภาพวาดที่ใช้ในตอนสุดท้ายของซีรีส์อย่าง “Figures of Light” ที่หยิบเอาประสบการณ์อันท่วมท้นล้นหลั่งมานำเสนอ และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในชีวิตของแดนนี่และเอมี่ ทั้งความรู้สึกและมุมมองของพวกเขา ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ตัวละครในภาพวาดนี้กำลังก้มหน้าลงมองความวุ่นวายยุ่งเหยิงบนพื้นดิน เช่นเดียวกับที่กล้องมุมสูงจับภาพรถของเอมี่และแดนนี่ที่พังพินาศจากการไล่ล่ากันอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าในแต่ละตอนของ BEEF จะพลิกผันอย่างไร ชื่อตอนและภาพประกอบในแต่ละตอนก็จะบอกใบ้ให้ผู้ชมเห็นถึงสิ่งที่จะนำพาให้ตัวละครพบกับความฉิบหายวายป่วงในเรื่องได้อย่างแนบเนียน”

Title card ep.6 - ep.10 ที่ใช้ภาพวาดของ เดวิด​ โช, ภาพจาก Netflix

  เดวิด​ โช ยังเป็นศิลปินที่ ฌอน ปาร์กเกอร์ อดีตประธานบริษัทคนแรกของ Facebook ว่าจ้างให้ไปวาดภาพฝาผนังในอาคารสำนักงานใหญ่ของ Facebook ในซิลิคอนวัลเลย์ โดยที่โชเลือกที่จะรับค่าตอบแทนเป็นหุ้นของ Facebook แทนค่าจ้าง (คงไม่ต้องถามว่าตอนนี้เขารวยขนาดไหนอะนะ!)
  ท้ายสุด อี ซองจิน ให้บริษัทดีไซน์อย่าง Sarofsky ออกแบบตัวหนังสือชื่อตอนแต่ละตอนให้เหมาะกับภาพวาดแต่ละภาพของโช โดยได้แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์ปกอัลบั้มวงดนตรีและนิตยสารในยุค 90s โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสารดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกอย่าง Ray Gun นั่นเอง
  เรียกได้ว่าประณีตพิถีพิถันในทุกรายละเอียดขนาดนี้ เหล่ามิตรรักแฟนศิลปะที่เป็นคอซีรีส์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงจริง ๆ อะไรจริง!

แหล่งที่มา
www.netflix.com/tudum/articles/beef-art-explained
thetab.com/uk/2023/04/11/beef-art-meaning-title-intro-302756
www.artnews.com/art-news/news/netflix-beef-art-world-artists-david-choe-1234663426/
www.themarysue.com/who-is-david-choe-title-art-in-netflixs-beef-explained/
www.indiewire.com/2023/04/beef-netflix-opening-titles-artwork-david-choe-1234827318/
epicstream.com/article/beef-netflix-is-the-tamago-chair-real
    TAG
  • netflix
  • film
  • culture
  • lifestyle
  • art
  • BEEF

Art inside BEEF งานศิลปะที่แฝงกายในซีรีส์สุดร้อนแรงแห่งปี “คนหัวร้อน”

CULTURE&LIFESTYLE/FILM
April 2023
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    แรงบันดาลใจจากภาพวาด สู่ภาพยนตร์ Barbie & Hockney

    เมื่อแรกเห็นฉากอันเปี่ยมสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในหนัง Barbie (2023) ของผู้กํากับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) สิ่งแรกที่เราอดนึกถึงไม่ได้เลยคือผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) หนึ่งในศิลปินคนสําคัญในกระแสศิลปะป๊อปอาร์ตในยุค 60s และเป็นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ทรง อิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จากผลงานภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด จัดจ้าน เต็มไปด้วยความเก๋ ไก๋ เปี่ยมสไตล์ และความฉลาดหลักแหลม จนเป็นที่จดจําของคนรักศิลปะทั่วโลกอย่างยากจะลืมเลือน

    Panu BoonpipattanapongSeptember 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    แรงบันดาลใจจากศิลปะแห่งความสยดสยองในซีรีส์เขย่าขวัญยอดฮิต Cabinet of Curiosities: Pickman's Model

    ในซีรีส์สุดสยองยอดฮิตของ Netflix อย่าง Guillermo del Toro's Cabinet of Curiosities (2022) ผลงานปลุกปั้นของ กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับชาวเม็กซิกันเจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Shape of Water (2017) กับซีรีส์กระตุกขวัญสั่นประสาท จบในตอน จำนวน 8 ตอน จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับ 8 คน ที่เดล โตโรเป็นผู้คัดสรรทั้งผู้กำกับ, นักเขียนบท และเรื่องราว (บ้างก็เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาใหม่ บ้างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นสยองขวัญสุดคลาสสิค) ด้วยตัวเอง ราวกับเป็นภัณฑารักษ์ที่เฟ้นหาผลงานศิลปะสุดสยองมาประดับในตู้แห่งความพิศวงของเขา

    Panu BoonpipattanapongMarch 2023
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    ผู้แพ้ เงามืด ด้านสว่าง และเวลาที่เหลือ : คุยกับ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล

    อาจไม่อยู่ในความสนใจของคุณ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องภาพยนตร์ คุณควรรู้ไว้สักหน่อยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักทำหนังชาวไทยคนหนึ่งนำหนังไทยไปคว้ารางวัลใหญ่ “หนังยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์ “Doclisboa 2019” ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส นักทำหนังคนนั้นชื่อ ปุ่น - ธัญสก พันสิทธิวรกุล และหนังเรื่องนั้นชื่อ “Santikhiri Sonata” เป็นหนังสารคดีผสมฟิกชันที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อ “สันติคีรี”

    EVERYTHING TEAMJanuary 2020
  • CULTURE&LIFESTYLE/FILM

    INTERVIEW PRABDA YOON : Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้

    หลังจากที่ฉายรอบปฐมทัศน์ในสายประกวด Asian Future ของเทศการ Tokyo International Film Festival 2017 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กับผลตอบรับจากคนดูและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ Someone From Nowhere - มา ณ ที่นี้ ภาพยนต์ลำดับที่ 2 ในบทบาทผู้กำกับของปราบดา หยุ่น

    Sirima ChaipreechawitAugust 2018
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Love Lies เรื่องรักจากคำหลอกของหญิงหม่ายและมิชฉาชีพ ผลงานการกำกับครั้งแรกของ Ho Miu Ki

    ท่ามกลางลิสต์ภาพยนตร์ต่อสู้ระทึกขวัญ หรือภาพยนตร์ดราม่าเรียกอารมณ์ผู้ชม ใน Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ที่เดินทางกลับมาฉายในไทยอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีภาพยนตร์กลิ่นอายโรแมนติกอีกหนึ่งเรื่อง ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันอย่าง Love Lies ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแพทย์หญิงหม่าย ที่รับบทโดย Sandra Ng Kwan-Yue (อู๋จินหยู) ผู้ร่ำรวย และมีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งบังเอิญตกหลุมรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสวัยกลางคน ที่คอยหยอดคำหวานและคำห่วงใยผ่านแชทมาให้ตลอด จนกระทั่งเธอค้นพบความจริงว่าเบื้องหลังแชทเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยคำลวงจากฝีมือเด็กหนุ่มมิชฉาชีพ ที่รับบทโดย MC Cheung (เอ็มซีเจิ้ง) ดังนั้นเรื่องราวต่อจากนี้ในภาพยนตร์จึงเป็นการค้นหาคำตอบของเธอในสมการความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
  • CULTURE&LIFESTYLE/MOVIE

    Nick Cheuk ผู้กำกับและนักเขียนบท Time Still Turn The Page ภาพยนตร์ทรงพลังที่ท่วมท้นด้วยคำชื่นชมจากทั้งในและนอกฮ่องกง

    ความสำเร็จด้านรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญฮ่องกงของ A Guilty Conscience จากการกำกับของ แจ็ค อึ่ง (Jack Ng) สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และทำให้บรรยากาศของแวดวงนี้ดูจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก พอ Hong Kong Film Gala Presentation หรือที่ในปีนี้ใช้ชื่อเต็มว่า Hong Kong Film Gala Presentation & Dynamic Cityscapes of Hong Kong Films “งานภาพยนตร์ฮ่องกงพลังหนังขับเคลื่อนเมือง กับนิทรรศการหนังฮ่องกง” ได้กลับมาจัดอีกครั้งในประเทศไทย ก็ทำให้ลิสต์ในปีนี้เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพที่น่าจับตามองจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่ และจากพลังของนักแสดง

    EVERYTHING TEAMAugust 2024
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )