Ari House I บ้านที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในบ้านทั้งในวันนี้และอนาคต โดย Greenbox Design | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ARCHITECTURE:
----HOUSE

Simply Satisfying

บ้านทรงโมเดิร์นที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของ สมาชิกในบ้านด้วยวิธีการที่เรียบง่ายและตรง ไปตรงมา

  เพราะวิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน การออกแบบพื้นที่ใช้สอยในบ้านแต่ละหลังจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ที่ ‘บ้านอารี’ ภายใต้อาคารสีขาวหลังคาจั่วรูปทรงโมเดิร์น บันไดทุกขั้น หน้าต่างทุกบาน และพื้นที่ใช้สอยทุกตารางนิ้วได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อตอบรับแนวทางการใช้ชีวิตของสมาชิกในบ้านซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาคุณหมอกับลูกน้อยโดยเฉพาะ

  เมื่ออาคารหลังเดิมซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านแฝดไม่สามารถตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัวได้ ทีมสถาปนิกจาก Greenbox Design จึงเสนอให้สร้างบ้านหลังใหม่แทนการต่อเติมอาคารเดิม แม้จะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างของบ้านคู่แฝดหลังข้างเคียงและขนาดที่ดินซึ่งค่อนข้างเล็ก แต่เพื่อแลกมาซึ่งอิสรภาพในการสร้างสรรค์พื้นที่ให้เหมาะสำหรับทุกคนในบ้านอย่างแท้จริง การออกแบบบ้านหลังใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น

  ที่บ้านหลังนี้ ความฝันในวัยเด็กของคุณหมอ (ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยากเรียนด้านการประมง) ถูกแปลงมาเป็นบ่อปลาคาร์ปในสวนขนาดย่อมซึ่งใช้เป็นทางเข้าหลักของบ้าน กิจกรรมยามเย็นของคู่สามีภรรยาได้รับการถ่ายทอดเป็นห้องครัวและพื้นที่ทานอาหารซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางเข้าบ้านที่ชั้นล่าง พื้นที่วิ่งเล่นของลูกและพื้นที่พักผ่อนของพ่อแม่ถูกแปลเป็นพื้นที่ใช้สอยบนชั้นสองและชั้นสาม การจัดวางลำดับและตำแหน่งของพื้นที่ส่วนต่างๆ ในบ้านล้วนเป็นผลมาจากการศึกษาวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัว “เราก็เริ่มจาก Research พฤติกรรมของเขานี่แหละ เขาออกจากบ้านตอนเช้าทุกวัน กลางวันทำงาน เย็นๆ กลับบ้านทำอาหารกินกันเอง ทั้งสองคนมีเมนูที่ไม่เหมือนกัน แยกกันทำ แล้วกินข้าวพร้อมกัน จากนั้นค่อยนั่งเล่น ดูซีรี่ส์ ก่อนเข้านอน” สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenbox Studio กล่าว “มันก็เลยเป็น Sequence ที่เกิดจากพฤติกรรมของเขาจริงๆ แทนที่จะมาเสียเวลากับฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น”

  ทีมสถาปนิกไม่เพียงศึกษาวิถีชีวิตเจ้าของบ้านในปัจจุบัน หากยังจินตนาการถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปในอนาคต พวกเขาจึงออกแบบให้บ้านหลังนี้สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับผู้อยู่อาศัยได้ ในวันที่ลูกยังเล็ก ห้องนั่งเล่นชั้นสองก็มีพื้นที่ให้เด็กได้เล่นอยู่ใกล้ๆ กับโต๊ะทำงานของแม่ โดยมีการยกระดับพื้นสูงขึ้นจากบริเวณหน้าทีวีเล็กน้อยคล้ายเป็นตั่งและใช้พนักของโซฟาเป็นตัวกั้นอาณาเขต ในขณะเดียวกัน ก็เตรียมพื้นที่ชั้นสามไว้สำหรับรองรับการใช้งานในอนาคตเมื่อลูกโตขึ้น ทั้งพื้นที่ทำกิจกรรมและห้องนอนลูก อีกทั้งมีมุมส่วนตัวสำหรับการซ้อมตีกลองของคุณพ่อตั้งอยู่บนชั้นลอยใต้หลังคา ทำให้เกิดการใช้งานพื้นที่ชั้นสามในระหว่างที่รอการเติบโตของลูกน้อย “พอเราได้โปรแกรมของชีวิตเขามาแล้ว เราก็ศึกษาต่อไปอีกว่าในอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้นใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า” สุรัตน์อธิบาย “บ้านหลังนี้เราคุยกันในวันที่เขาคลอดลูก ผมเอาแบบไปส่งที่โรงพยาบาล ที่นี้การวางแผนในอนาคตมันก็สะท้อนไปถึงว่า เขาจะเลี้ยงลูกคนนี้ที่เพิ่งคลอดมาแบบไหน แยกห้องนอนกับลูกหรือจะให้นอนรวมกันไปก่อน กิจกรรมที่จะให้ลูกทำคืออะไรบ้าง”

  แม้ว่าบ้านจะแบ่งเป็นสามชั้น แต่ความสัมพันธ์ของพื้นที่แต่ละส่วนได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อกันผ่านการการได้ยินเสียงและการมองเห็น โถงบันไดและระเบียงทางเดินภายในบ้านที่เปิดโล่งทำหน้าที่เป็นปล่องเสียง ทำให้สมาชิกในครอบครัวสามารถได้ยินเสียงกันและกันเวลาอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ในขณะเดียวกัน การใช้หน้าต่าง ผนังกระจก และการเจาะรูบนพื้นยังช่วยทุกส่วนของบ้านสามารถมองเห็นกันได้ ทำให้บ้านสามชั้นหลังนี้ดูกระชับลงและอบอุ่นมากขึ้น

  ผังของบ้านได้รับการออกแบบเป็นลักษณะตัวยู โดยฝั่งที่เคยติดกับบ้านแฝดหลังเดิมนั้นเป็นผนังทึบแล้วเว้นช่องว่างอีกฝั่งไว้เป็นสวนขนาดย่อม สวนนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความร่มรื่นให้กับบรรยากาศภายในบ้าน หากยังทำหน้าที่กรองความร้อนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายในจากสายตาของสายตาของบ้านข้างเคียง

  ด้วยการใช้ตะแกรงเหล็กฉีกติดตั้งไว้ที่ระนาบด้านบน ก่ออิฐบล๊อกช่องลมที่แนวกำแพงรั้ว และปลูกต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านปกคลุมลานกลางบ้าน สวนของบ้านอารีทำหน้าที่กรองความร้อน แต่เปิดรับลมและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านได้อย่างน่าสนใจ แสงที่ส่องเข้ามาผ่านตะแกรงเหล็กฉีก รูของอิฐบล๊อก และช่องว่างระหว่างใบไม้ ก่อให้เกิดเงาที่มีรูปทรงแตกต่างกันและช่วยสร้างบรรยากาศให้กับพื้นที่ภายในบ้านอย่างมีมิติ

  นอกจากนั้น ยังมีการใช้หลังคา Skylight เพื่อป้องกันฝน ทำให้สามารถใช้งานพื้นที่สวนได้อย่างเต็มที่ สวนแห่งนี้จึงเป็นสวนที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยแหงนหน้าชมท้องฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวเปียกฝน “ตะแกรงเหล็กฉีกช่วยกันแสงไม่ให้ลงมามากเกินไป ข้างบนมีแสงลงมาก็จริงแต่ว่าฝนไม่ลงมานะครับ” สุรัตน์กล่าว “เราใช้ Skylight ทำหลังคา ในคอร์ทยาร์ดตรงนี้ฝนไม่ตกนะครับ ฝนจะไปตกลงต้นไม้พอดี”

  เพื่อออกแบบพื้นที่สวนให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านอย่างแท้จริง การเลือกใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติจึงต้องผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งตำแหน่งที่ตั้งซึ่งสัมพันธ์กับทิศทางแดดและลม ไปจนถึงพันธุ์และขนาดของต้นไม้ที่เลือกใช้ “เวลาออกแบบเราจะคิดทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน ทั้ง Interior ทั้ง Landscape ข้างในจะมองออกไปข้างนอกบ้านยังไง เราพยายามทำให้ Landscape มันเลื้อยขึ้นไปในงานของเราให้มากที่สุด” สุรัตน์กล่าว “อย่างปลูกต้นไม้ ผมต้องไปเลือกต้นไม้ที่สูงไม่เกินตะแกรงเหล็กฉีก แต่ต้องสูงเลยระยะของพัดลมขึ้นไป เราเลือกพะยูงเพราะมันโตช้า และฟอร์มต้นพะยูงมันชะลูด มันไปแตกกิ่งข้างบนเลยเหมาะกันบ้านหลังนี้

  รูปทรงของบ้านที่มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นนั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะสร้างสไตล์ให้กับงานออกแบบ หากเป็นการสะท้อนลักษณะการใช้งานภายในและการแก้ปัญหาข้อจำกัดของที่ตั้ง หลังคาจั่วที่ไม่มีชายคาเกิดจากความต้องการในการใช้ที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุดทำให้ไม่มีระยะว่างจากเขตที่ดินเพียงพอสำหรับชายคา ผนังสีขาวเรียบๆ เป็นทางเลือกในการใช้วัสดุที่ไม่สิ้นเปลือง “เราไม่ได้อยากเน้นฟอร์มโมเดิร์น” สุรัตน์กล่าว “แต่โมเดิร์นก็คือการตอบคำถามด้วยวิธีที่เรียบง่ายที่สุด”

  ที่บ้านอารี บ้านหลังคาจั่วทรงโมเดิร์นสีขาวซึ่งมีบ่อปลาคาร์ปและสวนขนาดย่อมไว้คอยต้อนรับสมาชิกในครอบครัวกลับมาบ้าน และมีห้องนั่งเล่นที่พ่อแม่สามารถมองเห็นและได้ยินเสียงลูกได้ไม่ว่าเจ้าตัวน้อยจะกำลังซุกซนอยู่ที่มุมไหน หน้าต่างทุกบาน บันไดทุกขั้น รวมไปถึงทุกองค์ประกอบในการตกแต่ง ล้วนตอบรับวิถีชีวิตของสมาชิกในบ้านได้อย่างพอเหมาะโดยที่ทุกคนไม่รู้ตัว “เราไม่ได้ถามลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร เราเรียนรู้พฤติกรรมของเขาแล้วเราเอามา Apply มานำเสนอเขาว่าเขาควรจะอยู่กับสถาปัตยกรรมแบบไหน” สุรัตน์กล่าว “ฟังก์ชันหลายๆ อย่างเขาคาดไม่ถึงหรอกว่าเขาควรจะมี แต่พอมีจริงๆ มันก็เวิร์ค โดยที่ก่อนหน้านี้เขาเองก็ไม่รู้”

    TAG
  • architecture
  • design
  • house
  • Greenbox Design
  • Baan Ari

Ari House I บ้านที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในบ้านทั้งในวันนี้และอนาคต โดย Greenbox Design

ARCHITECTURE/HOUSE
April 2020
CONTRIBUTORS
EVERYTHING TEAM
RECOMMEND
  • DESIGN/HOUSE

    “Pong House” เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านคอร์ต พร้อมตอบโจทย์ความ Privacy

    “Pong House” บ้านที่พร้อมเปิดสเปซมากที่สุดสำหรับการเชื่อมปฏิสัมพันธ์สู่ธรรมชาติ และเผยมุมมองน้อยที่สุดสู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อความเป็นส่วนตัว โดยมี ‘คอร์ตยาร์ต’ เป็นหัวใจของบ้าน ในการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ดีไซน์ที่คลี่คลายสู่ความเรียบง่าย และพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในทุกมุมของบ้าน

    EVERYTHING TEAMSeptember 2022
  • DESIGN/HOUSE

    ICE.SU HOUSE BY JUNSEKINO A+D บทสนทนาระหว่างการสร้างบ้านที่ย้อนแย้งแต่ชัดเจนบนสเกล 1:1

    “One for the Road” หรือ “วันสุดท้าย . . ก่อนบายเธอ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย และได้ผลตอบรับที่ดีทั้งจากตัวหนัง ผู้อำนายการสร้าง ผู้กำกับ บท เพลง นักแสดง ไปจนถึงบ้านของนักแสดงนำซึ่งมีเอกลักษณ์ และถูกพูดถึงมากกว่าเจ้าของ ไอซ์ซึ หรือ คุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ เลือกการปลูกบ้านขึ้นใหม่จากสถาปนิกที่เขาเลือกเอง JUNSEKINO A+D เพื่ออาศัยอยู่กับแฟนและแมว

    Nada InthaphuntMay 2022
  • DESIGN/HOUSE

    HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

    HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

    By TOSTEM
    EVERYTHING TEAMOctober 2021
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN VIPHA 41 BY ANONYM บทสนทนาของตัวตนและประสบการณ์อย่างที่ใจตามหา

    บ้านวิภา 41 เป็นผลงานที่เริ่มต้นโครงการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นก่อตั้งสตูดิโอ ANONYM ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างผลงานบ้าน และเน้นย้ำแก่นเอกลักษณ์ของตนจนมีความโดดเด่นทางผลงานสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัยเช่นในปัจจุบัน

    Nada InthaphuntMay 2021
  • DESIGN/HOUSE

    House COVE(R) by TOUCH Architect ต่อเติมบ้านหัวมุมให้ต่อเนื่องกับบ้านหลังเก่า

    เมื่อบ้านเดี่ยวสองชั้นเดิมในหมู่บ้านจัดสรรของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ของคน 3 รุ่น มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การต่อเติมบ้านบนแปลงที่ดินรูปทรงพิเศษตามการจัดสรรเดิมในรั้วบ้านซึ่งมีโจทย์ของการต่อเติมอย่างไรให้กลมกลืนจึงเกิดขึ้น

    Nada InthaphuntApril 2021
  • DESIGN/HOUSE

    BAAN SAILOM BY ANONYM บ้านที่สายลมมีร่างกายให้จับต้อง

    เอกลักษณ์ของผลงาน ANONYM คือการดึงตัวตนของเจ้าของบ้านออกม่านงานได้อย่างหลากมิติ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้ภาพรวมของผลงานออกมาเนี้ยบทุกชิ้น แต่ “ตัวกลาง” ของ “บ้านสายลม” กลายเป็นสิ่งปลดล็อคความเป็น ANONYM อีกแบบที่อนุญาตให้เจ้าของบ้านเข้ามาตัวตนอีกมุมซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น

    Nada InthaphuntMarch 2021
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )