LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING

นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

แต่นอกจากการทำภาพยนตร์แล้ว อภิชาติพงศ์ยังมีอีกบทบาทในฐานะศิลปินร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องจริงจังและยาวนาน จนได้รับการยอมรับในระดับสากล เขาแสดงผลงานในหอศิลป์และสถาบันทางศิลปะชั้นนำมาแล้วทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ตัวอภิชาติพงศ์ก็มักจะนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะในสื่อภาพยนตร์มากกว่าจะเป็นคนทำภาพยนตร์ด้วยซ้ำ
ในวงการศิลปะเองอภิชาติพงศ์ก็เป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งการถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัล Hugo Boss Prize ประจำปี 2010 รางวัลเกียรติยศที่มอบให้กับศิลปินร่วมสมัยผู้สร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นให้กับวงการศิลปะโลก ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์, เขายังเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุด ในสาขาศิลปะและวรรณกรรมจากประเทศฝรั่งเศส อย่าง Officiers de l’ordre des arts et des lettres, France ในปี 2011 และ Commandeur de l’ordre des arts et des lettres, France ในปี 2017 อีกด้วย
ล่าสุด ในช่วงปลายปี 2024 นี้ อภิชาติพงศ์เป็นศิลปินไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าไปแสดงงานในสถาบันทางศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่าง ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (Centre Pompidou) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในโปรแกรมหลักที่มีชื่อว่า Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลฤดูใบไม้ร่วงในปารีส (Paris Autumn Festival) เทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการทดลองทางศิลปะใหม่ๆ จากศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ทั่วโลก
โดยกิจกรรมหลักของโปรแกรมนี้คือนิทรรศการ “Night Particles (Particules de nuit)” ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ในพื้นที่แสดงงานสุดพิเศษของ Centre Pompidou อย่าง Atelier Brancusi (Brancusi’s studio) ศาลาแสดงงานที่จำลองสตูดิโอของ คอนสแตนติน บรังคูซี (Constantin Brancusi) ประติมากรชาวโรมาเนียน - ฝรั่งเศสระดับตำนาน ที่เพิ่งบูรณะซ่อมแซมเสร็จและเปิดเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะแห่งแสงสว่างในที่มืดของอภิชาติพงศ์ในครั้งนี้

“นิทรรศการครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมงานของเราทุกรูปแบบ ในวาระที่ Centre Pompidou จะปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2025 ไปจนถึงปี 2030) เขาก็จะทำเป็นเทศกาลศิลปะ แต่ไม่ได้มีงานของเราคนเดียว มีงานของศิลปินคนอื่นด้วย เพียงแต่งานของเราค่อนข้างกว้าง เพราะเราทำทั้งหนัง งานศิลปะ และงานแสดงสด ก็ค่อนข้างตอบโจทย์ของเขา แล้วพอดีตอนนั้น อาคาร Atelier Brancusi เพิ่งเปิดพอดี หลังจากปิดไปนาน ซึ่งเป็นอาคารที่ iconic มาก ทาง Centre Pompidou ก็เสนอมาว่าให้เราแสดงงานที่นี่ ตอนเห็นครั้งแรกเราชอบมาก แต่ก็ปฏิเสธไป เพราะเราสู้ความ iconic ของมันไม่ไหว เพราะว่าอาคารนี้เป็นสัญลักษณ์ของบรังคูซีไปแล้ว และสตูดิโอของเขาก็เป็นเรื่องของแสง แต่งานของเราอยู่ในความมืด เราก็ไม่อยากที่จะไปทำให้อาคารมืด เพราะจะไปด้อยค่ามัน แต่เราคิดว่า เอาวะ ลองดูก็แล้วกัน

เราก็ทำงานกับภัณฑารักษ์ มาร์เซลลา ลิสตา (Marcella Lista) อย่างใกล้ชิด พอลองทำดูแล้วก็พบว่า ในขณะที่ทำให้อาคารมืด เราก็ยังสามารถดึงรูปทรงของตัวอาคารออกมาได้ และเป็นเหมือนบทสนทนาตรงกันข้ามกับตัว Atelier Brancusi ได้ เหมือนเราทำงานประติมากรรม แต่เป็นประติมากรรมจากแสง เราก็ค่อยๆ พัฒนาโครงการขึ้นมา จนกลายเป็นการรวบรวมงานที่เราเคยทำมาในหลายๆ ปี ที่ผ่านมา เป็นงานศิลปะจัดวางหลายชิ้น แต่เราก็จะเน้นแสดงงานชิ้นใหม่ๆ หน่อย เป็นงานศิลปะจัดวาง ประมาณ 10 ชิ้น และวิดีโอไดอารี่ 9 ชิ้น ที่เน้นความเป็นประติมากรรมแสง กับความมืด และความฝัน อย่างเช่นผลงาน January Stories (2024) ที่ถ่ายทำกับ ทิลดา สวินตัน ที่เชียงราย ซึ่งมีสองเวอร์ชัน คือเวอร์ชันที่ฉายในโรงหนัง (ซึ่งอยู่ในอีกโปรแกรมที่จะจัดฉายใน Centre Pompidou) กับเวอร์ชันที่เป็นงานศิลปะจัดวางที่เอามาแสดงที่นี่ รวมถึงผลงาน Memoria, Boy at Sea (2017) ที่เอาฟุตเตจจากหนัง Memoria (2021) ที่ไม่ได้ใช้มาตัดคู่กับวิดีโออีกชิ้นเป็นงานวิดีโอจัดวางชิ้นใหม่ขึ้นมา”
“การทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์ เริ่มแรกเลย เราจะโยนลิสต์เข้าไป แล้วก็เริ่มคัดงาน ส่วนใหญ่เราก็จะคัดงานมาเอง แต่พอเราไม่มั่นใจ เพราะเราไม่เคยเห็นพื้นที่ เราก็ปรึกษาเขา ซึ่งเขาก็ไม่เคยเห็นพื้นที่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าพอมันมืดแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะปกติพื้นที่นี้จะสว่างมาก นี่เป็นครั้งแรกที่เคยมีการแสดงงานที่เป็นภาพเคลื่อนไหว(ในห้องมืด)ที่นี่ น่าสนใจว่างานนี้เป็นงานที่เราค่อยๆ ก่อร่างขึ้นมาทีละน้อย คือถ้าเป็นพื้นที่อื่น เราจะทำงานได้ทันที แต่พอเป็น Atelier Brancusi เราคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีบทสนทนากับพื้นที่ ในแง่ที่ว่า ผู้ชมที่นี่ยังมีความทรงจำของพื้นที่นี้อยู่ ทั้งรูปทรงและภาพลักษณ์ของอาคาร ถ้าเราทำงานแล้วทำให้คนที่เข้าไปชมจำพื้นที่นี้ไม่ได้ แสดงว่าเราทำงานไม่สำเร็จ เราก็เลยไม่ได้ดัดแปลงอาคารหรือสร้างอะไรเพิ่มมากมาย แค่สร้างผนังสำหรับติดตั้งวิดีโอจัดวาง แต่ว่าน้อยมาก คงเหลือพื้นที่เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด”

“ในนิทรรศการนี้มีงานชิ้นหนึ่งที่เคยแสดงใน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย คือ Solarium ผีตาโบ๋ (2023) เราปรับบริบทของงานให้เข้ากับที่นี่ เพราะงานชิ้นนั้นทำขึ้นเพื่อแสดงในพื้นที่ในเชียงราย พอเราเอามาปรับแสดงที่นี่ ซึ่งเป็นเวอร์ชันเดียวกับที่แสดงที่ญี่ปุ่น งานก็จะเปลี่ยนไป เพราะเราจะเน้นให้เห็นรูปทรงเรขาคณิตในงานชัดขึ้น เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีความเป็นคอนกรีตขาวๆ เหลี่ยมๆ ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ที่เชียงราย จะมีความมืดมัว มีความรู้สึกเลือนรางของชีวิตนักเรียน สถาปัตยกรรมชนบทเก่าๆ ฝุ่นจับ เป็นเรื่องของความเป็นอดีต แต่งานนี้จะเป็นเรื่องของความเป็นปัจจุบัน ด้วยความเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีเหลี่ยมมุมชัดเจนให้เห็น ถึงแม้จะเป็นงานชิ้นเดียวกันก็สามารถตีความได้ตามพื้นที่แสดงงานแต่ละแบบ”
ในฐานะศิลปินผู้จัดแสดงนิทรรศการในระดับนานาชาติ อภิชาติพงศ์ยังกล่าวถึงประสบการณ์ในการทำงานกับสถาบันทางศิลปะสำคัญระดับโลกแห่งนี้ว่า
“การทำงานกับสถาบันระดับนี้ทำให้เราทำงานเหนื่อยน้อยลง เพราะว่ามีคนช่วยคิดเยอะ ในการทำงาน ซึ่งเราชอบนะ เพราะว่าเขาตีความงานของเราในพื้นที่ของเขา เหมือนเรามีรายการผลงานส่งให้เขาเอาไปจัด นี่พูดถึงภาพยนตร์ด้วยนะ อย่างตอนที่เตรียมโปรแกรมจัดฉาย เขาก็เตือนเราว่าเรามีหนังเรื่องนี้ๆ ด้วย ซึ่งเราลืมไปแล้วว่ามี เช่น วีดีโอที่เป็นโปสการ์ดปีใหม่ ที่เราส่งให้คนสนิท เขาบอกคุณมีหนังเรื่องนี้ด้วยนะ แสดงว่าเขามีการค้นคว้ามา เขารู้ว่าเราทำอะไรบ้าง สมมุติว่า 10 ปีที่แล้ว เรามีวีดีโอหนึ่งนาทีนี้ เขาก็รู้ว่ามีอยู่ ซึ่งในเว็บไซต์เราเองก็ไม่ได้ลง อย่างหนังสั้นเราก็โยนไปให้เขา แล้วเขาก็จัดเป็นโปรแกรม เป็นธีมของเขาขึ้นมาเอง เราว่ามันดี เหมือนเป็นการร่วมงานกันมากกว่าการที่จะมองว่าใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นคนคุม”

เคียงคู่ไปกับนิทรรศการครั้งนี้ ทาง Centre Pompidou ยังมีการจัดโปรแกรม “Apichatpong Weerasethakul : Complete retrospective” ที่จัดฉายภาพยนตร์ทุกเรื่องของอภิชาติพงศ์นับแต่อดีตจนปัจจุบัน ทั้งภาพยนตร์ขนาดยาวจำนวน 8 เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์ทดลองของเขา (ที่หาชมได้ยาก) และอื่นๆ อีกมากมาย


ในระหว่างโปรแกรม อภิชาติพงศ์ยังมีการจัดมาสเตอร์คลาส และเปิดตัวภาพยนตร์สั้นที่สร้างขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ Centre Pompidou อย่าง “Où en êtes-vous ?” (Where are you at?) ซึ่งจะจัดฉายในช่วงท้ายของงานในเดือนธันวาคม ในงานยังมีการเปิดตัวและพบปะพูดคุยกับนักแสดงประจำของอภิชาติพงศ์อย่าง ศักดิ์ดา แก้วบัวดี, ป้าเจน เจนจิรา พงพัศ (พูดคุยทาง Zoom) และ ทิลดา สวินตัน รวมถึงมีการเปิดตัวหนังสือรวมผลงานของอภิชาติพงศ์อย่าง Apichatpong Weerasethakul - Homes อีกด้วย
นอกจากนี้ในงานยังมีการจัดแสดงผลงานแสดงสดแบบเสมือนจริง (VR) “A Conversation with the Sun” ที่นำพาผู้ชมไปสำรวจโลกอันกว้างไกลเหนือขอบเขตของความฝัน ราวกับเป็นการหวนคืนสู่ต้นกำเนิดของชีวิตก็ไม่ปาน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอภิชาติพงศ์ และ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) นักดนตรีและนักแต่งเพลงชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น ที่มาร่วมสร้างสรรค์เสียงดนตรีให้กับผลงานชิ้นนี้อีกด้วย ซึ่งอภิชาติพงศ์กล่าวถึงผลงานชุดนี้ว่า
“งานชุดนี้เป็นเรื่องของการมอง เหมือนกับการมองปัจจุบันขณะ มองความทรงจำ มองแสงที่เปลี่ยนไป มองเงา มองชีวิตใกล้ๆ มองคุณค่าของดวงอาทิตย์ เป็นการมองที่ไม่มีความคิดแบบล่วงหน้า หากแต่เป็นการมองแหล่งที่มาของชีวิต (Source of life) เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองความเคลื่อนไหวของชีวิต ซึ่งในนิทรรศการในพื้นที่ Atelier Brancusi ข้างนอกอาคาร เราก็มีงานที่ใช้ชื่อเดียวกัน คือ A Conversation with the Sun แต่ใส่วงเล็บว่า (The Garden) อยู่ในสวนเล็กๆ ทางด้านหน้าของอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องของความฝัน เพราะปกติเราจะทำไดอารี่ความฝันเก็บเอาไว้ คือตื่นนอนมาก็จดความฝันเอาไว้ แล้วเลือกมา 5 เรื่อง ในสวนก็จะมีลำโพง 5 ตัว เล่าเรืื่องราวของความฝันสลับกันไปมา เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส อังกฤษ ให้คนเข้าไปนั่งในสวนก็จะได้ไปนั่งฟังความฝันของเราในนั้น”

จัดหนักจัดเต็มเสียขนาดนี้ หากมิตรรักแฟนหนังและแฟนศิลปะท่านใดมีโอกาสเดินทางไปปารีสในช่วงเวลานี้ ขอเตือนว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง.
นิทรรศการ Night Particles (Particules de nuit) จัดแสดง ณ Atelier Brancusi (ด้านนอกของ Centre Pompidou) ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2024 - 6 มกราคม 2025
Apichatpong Weerasethakul : Complete retrospective จัดแสดง ณ โรงภาพยนตร์ Cinema 2, level 1 และ Cinema 1, level 1 ใน Centre Pompidou ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน 2024
การแสดงสด A Conversation with the Sun (VR) จัดแสดง ณ Grande salle, level –1 ใน Centre Pompidou วันที่ 5 ตุลาคม 2024, 6 - 7 ตุลาคม 2024 และ 11 - 14 ตุลาคม 2024 (รอบจองเต็มหมดแล้ว)
ขอบคุณภาพจากศิลปิน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ก้อง ฤทธิ์ดี
https://www.centrepompidou.fr/en/program/calendar/event/LJeRZIl
https://www.centrepompidou.fr/en/program/calendar/event/dIEKvL9
https://www.centrepompidou.fr/en/program/calendar/event/XZ6mx9e
https://www.centrepompidou.fr/en/program/calendar/event/j9eoVV7
Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
/
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
/
หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา
/
ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
/
เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )