LOOKING ON EVERYTHING ?
EXPLORE ON EVERYTHING
![1.แอนโทนี พิทซอท ในสตูดิโอของเขา](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/1.แอนโทนี-พิทซอท-ในสตูดิโอของเขา.jpg)
Writer & Photographer:
Panu Boonpipattanapong
นับแต่โบราณนานมา งานจิตรกรรมถูกใช้ในการบันทึกสิ่งที่ตามนุษย์มองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกใช้แทนเครื่องมือบันทึกภาพของบุคคลก่อนที่กล้องถ่ายภาพจะถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แต่ในบางครั้งบางครา ศิลปินบางคนก็เล่นแร่แปรธาตุด้วยการใช้สิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์มาประกอบสร้างเป็นใบหน้าหรือร่างกายของมนุษย์ได้อย่างน่าสนเท่ห์
ยกตัวอย่างเช่น จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด (Giuseppe Arcimboldo) ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้ใช้พืชผักผลไม้, ดอกไม้ใบหญ้า, กุ้งหอยปูปลา มาประกอบกันเป็นใบหน้าและร่างกายของมนุษย์ได้อย่างน่าพิศวง งานศิลปะรูปแบบนี้ถูกเรียกขานว่า งานศิลปะแบบมานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism art) หรืองานศิลปะที่หยิบเอาลักษณะของความเป็นมนุษย์ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่าง พืช สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่วัตถุในธรรมชาติ
ในคราวนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่ทำงานศิลปะในลักษณะนี้ ที่นำเอาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มาประกอบสร้างเป็นภาพของมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ สิ่งอื่นที่ว่านั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหากแต่เป็นวัตถุไร้ชีวิตที่หยาบกร้าน ดิบกระด้าง อย่าง “ก้อนหิน” นั่นเอง
สตูดิโอของแอนโทนี พิทซอท, ภาพจาก http://www.lazybearco.com/blog/2014/8/27/the-antoni-pitxot-project
เรามีโอกาสพบเจอผลงานของของศิลปินผู้นี้เป็นครั้งแรก ตอนไปเยี่ยมชม Dalí Theatre-Museum พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ตัวพ่อ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ที่ประเทศสเปน สารภาพว่าตอนที่เห็นผลงานชุดนี้เป็นครั้งแรก เราคิดว่าเป็นผลงานของดาลี เพราะพวกมันเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นเหนือจริง ตามแบบอย่างของงานศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์ของดาลีเต็มขั้น แต่พอไปค้นข้อมูลหลังจากนั้น ก็พบว่าเราคิดผิด เพราะผลงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นของดาลีแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลงานของศิลปินอีกคนผู้มีชื่อว่า
แอนโทนี พิทซอท (Antoni Pitxot)
จิตรกรชาวสเปนผู้เป็นเพื่อนสนิท (ต่างวัย) และเพื่อนร่วมงานของดาลีมาอย่างยาวนาน ถามว่าสนิทขนาดไหน ก็สนิทขนาดที่ดาลีอุทิศพื้นที่ทั้งชั้นภายในพิพิธภัณฑ์ของเขาให้จัดแสดงผลงานของพิทซอทนั่นแหละ
แอนโทนี พิทซอท เกิดในปี 1934 ที่เมืองฟิเกรัส จังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน (บ้านเกิดเดียวกันกับดาลี) เขาเติบโตในครอบครัวที่แวดล้อมด้วยศิลปะและศิลปิน หนึ่งในจำนวนนั้นคือลุงของเขา รามอน พิชอท (Ramon Pichot) จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ผู้มีชื่อเสียง และยังเป็นที่ปรึกษาคนแรก ๆ ที่ทำให้หนุ่มน้อยดาลีหันมาสนใจศิลปะและตัดสินใจเป็นจิตรกรในที่สุด
![15.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/15.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
![25.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/25.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
![6.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/6.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
ในช่วงปี 1946-1964 พิทซอทอาศัยอยู่กับครอบครัวในเมืองซานเซบัสเตียน และเข้าเรียนศิลปะกับ ฆวน มูเนียส เฟอร์นานเดส (Juan Núñez Fernández) ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะของดาลีมาก่อน ในช่วงปี 1950 พิทซอทเริ่มทำงานในสไตล์เหมือนจริง (Realism) และเอ็กซเพรสชันนิสม์ (Expressionism) และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแสดงนิทรรศการในเมืองซานเซบัสเตียน, บาร์เซโลนา, มาดริด, บิลเบา และ ลิสบอน
ในปี 1964 พิทซอทตัดสินใจไปลงหลักปักฐานบนที่ดินของครอบครัวของเขาในเมืองกาดาเกส (Cadaqués) ที่นั่น เขาเริ่มเตะตากับเหล่าบรรดาก้อนหินในชายทะเลใกล้ ๆ บ้าน และเริ่มเก็บพวกมันมาศึกษาอย่างจริงจัง ในช่วงปี 1966 พิทซอททดลองทำงานแบบเซอร์เรียลลิสม์ ด้วยการวาดภาพร่างกายของมนุษย์ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหินที่เขาหลงใหล โดยเขามักจะนำก้อนหินเหล่านั้นมาประกอบขึ้นเป็นประติมากรรมรูปคน แล้วถ่ายทอดเป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบอีกที โดยได้แรงสนับสนุนและแรงบันดาลใจจากมิตรสหายศิลปินรุ่นใหญ่อย่างดาลีนั่นเอง
![28.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/28.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
ผลงานส่วนใหญ่ของพิทซอทมีความเกี่ยวข้องกับอุปมานิทัศน์ (Allegory - นิทานหรือเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบ) และตำนานเทพนิยายปรัมปรา (Myth) อย่างตำนานของ นิมอซินี (Mnemosyne) เทพแห่งความทรงจำ ผู้เป็นมารดาของเทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจ (Muse) ทั้งเก้า และผลงานในชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากบทละคร พายุพิโรธ (The Tempest) บทละครเรื่องสุดท้ายของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ด้วยการใช้ก้อนหินหลากสีสัน ขนาด และรูปทรง ประกอบสร้างขึ้นเป็นตัวละครและเรื่องราวจากตำนานปรัมปราและบทละครเหล่านี้ แล้วถ่ายทอดมันลงไปเป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบอีกทีหนึ่ง ซึ่งบางส่วนของผลงานเหล่านี้ก็ถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรชื่อ Antoni Pitxot: The Allegory of the Memory ในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum ที่เราไปชมมานั่นเอง
![18.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/18.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
![15.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/15.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
![2.แอนโทนี พิทซอท และ ซัลบาดอร์ ดาลี](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/2.แอนโทนี-พิทซอท-และ-ซัลบาดอร์-ดาลี.jpg)
แอนโทนี พิทซอท และ ซัลบาดอร์ ดาลี, ภาพจาก https://www.thetimes.co.uk/article/antoni-pitxot-p7gxknr9dn2
อันที่จริง พิทซอทมีความสนิทชิดเชื้อกับดาลีตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเกิดเสียอีก เพราะพวกเขาเกิดในเมืองเดียวกัน ครอบครัวของพวกเขาสนิทสนมกันมาก แถมทั้งคู่ยังเป็นศิษย์ของอาจารย์คนเดียวกันอีก อีกทั้งดาลียังเป็นผู้สนับสนุนผลงานของพิทซอทเป็นคนแรก ๆ อีกด้วย
ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ตัวพ่ออย่างดาลี ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจตลอดชีวิตของพิทซอทเท่านั้น หากแต่ยังส่งต่อความกระหายอยากทางศิลปะอันไม่มีที่สิ้นสุด และจุดไฟในการทำงานให้แก่เขาอย่างมากอีกด้วย พิทซอทและดาลีมีความเชื่อมโยงและผูกพันซึ่งกันและกันทางศิลปะอย่างมาก พวกเขามักแลกเปลี่ยนและส่งต่อแนวคิดในการทำงานให้แก่กันเสมอ ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1958 พิทซอททำงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเขาในบาร์เซโลนาในชื่อ The Battle of Constantine โดยเนื้อหาและแนวคิดเบื้องหลังผลงานในนิทรรศการนี้เองก็ได้แรงบันดาลใจจากบทสนทนาของเขากับดาลี เกี่ยวกับฉากการต่อสู้ของเหล่าบรรดาก้อนหินบนชายหาดซากอนกา ในเมืองกาดาเกส ซึ่งดาลีเป็นคนแต่งบทแนะนำนิทรรศการในสูจิบัตรให้ โดยมีใจความว่า
“เมื่อเหล่าบรรดาก้อนหินตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานถึงสี่พันปี หูของพวกมันก็อื้ออึงจากเสียงโห่ร้องของการต่อสู้จากกองทัพของก้อนหินทั้งสองฝั่ง”
![3.ซัลบาดอร์ ดาลี และ แอนโทนี พิทซอท](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/3.ซัลบาดอร์-ดาลี-และ-แอนโทนี-พิทซอท.jpg)
ซัลบาดอร์ ดาลี และ แอนโทนี พิทซอท, ภาพจาก https://www.salvador-dali.org/en/museums/dali-theatre-museum-in-figueres/antoni-pitxot/
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของดาลี พิทซอทแทบจะไม่ห่างจากดาลีเลย พวกเขามักใช้เวลาอันยาวนานพูดคุยทุกเรื่องราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของโลกศิลปะและงานจิตรกรรม ทั้งเรื่องราวของศิลปินชั้นครูในอดีต หรือศิลปินร่วมสมัย (ของพวกเขา) ดาลียังชักชวนให้พิทซอทร่วมกันออกแบบพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum และสร้างสรรค์ผลงานในพิพิธภัณฑ์ร่วมกันหลายต่อหลายชิ้น
ภายหลังจากที่ดาลีเสียชีวิต พิทซอทเป็นผู้ดูแลรักษามรดกทั้งหมดของดาลี โดยร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารมูลนิธิ Gala Salvador Dalí Foundation และยังรับบทเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum (ซึ่งเป็นที่ฝังศพของดาลี) จวบจนวันสุดท้ายของชีวิตของเขา
ในปี 2004 พิทซอทได้รับรางวัลเหรียญทองสาขาศิลปกรรมจากกษัตริย์สเปน จากผลงานศิลปะที่เขาทำในนามของตัวเอง แต่ก็มีทฤษฏีสมคบคิดกันว่า หลังจากที่พิทซอทย้ายมาอาศัยในคฤหาสน์ของดาลีเต็มเวลาเพื่อดูแลมิตรสหายศิลปินชราไม้ใกล้ฝั่ง ด้วยความสัมพันธ์อันใกล้ชิด, แนวทางการทำงานศิลปะ และแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน ทำให้หลายคนแอบร่ำลือกันให้แซดว่า พิทซอทคอยเป็นศิลปินผี (Ghost Artist) ผู้วาดภาพแทนดาลีในยามที่พลังสร้างสรรค์และเรี่ยวแรงของดาลีเริ่มถดถอยลงอย่างมาก โดยดาลีเป็นผู้เซ็นชื่อลงบนภาพให้ทีหลัง นักวิจารณ์บางคนคาดเดากันว่าพิทซอทเป็นผู้ทำผลงานอย่างน้อยหนึ่งชิ้นที่จัดแสดงในคอลเล็คชัน The LOST Salvador Dali อันโด่งดัง แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนก็ปัดตกข้อกล่าวหานี้ว่าไม่สมเหตุสมผลในเรื่องของช่วงเวลา ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ก็มีแต่ตัวพิทซอทกับดาลีเท่านั้นที่ล่วงรู้ และทั้งคู่ก็ลาจากโลกนี้ไปเรียบร้อย ปล่อยให้เหล่าบรรดาคนช่างสงสัยได้แต่สงสัยกันต่อไป...
![30.ภาพวาดตัวเองแอนโทนี พิทซอท ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/30.ภาพวาดตัวเองแอนโทนี-พิทซอท-ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ภาพวาดตัวเองของแอนโทนี พิทซอท ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
![21.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/21.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
![27.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/27.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
![24.ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/24.ผลงานของแอนโทนี-พิทซอท-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ผลงานของแอนโทนี พิทซอท ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
![29.ภาพวาดตัวเองแอนโทนี พิทซอท ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum](https://admin.iameverything.co/wp-content/uploads/2022/12/29.ภาพวาดตัวเองแอนโทนี-พิทซอท-ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน-ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์-Dalí-Theatre-and-Museum.jpg)
ภาพวาดตัวเองของแอนโทนี พิทซอท ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหิน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre and Museum, ภาพโดย Panu Boonpipattanapong
แอนโทนี พิทซอท เสียชีวิตในวันที่ 12 มิถุนายน 2015 ในวัย 81 ปี เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานและแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านมายังคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง
นิทรรศการถาวร Antoni Pitxot: The Allegory of the Memory โดย แอนโทนี พิทซอท จัดแสดงที่ ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum เมืองฟิเกรัส จังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา, ประเทศสเปน, เปิดทำการวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 10:30 - 18:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ (ยกเว้นในเดือนกรกฎาคม, สิงหาคม และกันยายน) และปิดทำการในวันที่ 25 ธันวาคม และ 1 มกราคม, เปิดทำการรอบกลางคืนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 20:00 - 1:00 น. (จองล่วงหน้า), สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 19 ยูโร (เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี เข้าชมฟรี), ดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าชมได้ที่ https://www.salvador-dali.org/
ศิลปินผู้วาดก้อนหินให้กลายเป็นมนุษย์ Antoni Pitxot
/
หากจักรวาลคือสิ่งที่กว้างใหญ่ไพศาลของสรรพสิ่งทั้งมวล และยังลึกซึ้งเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจกันได้อย่างแท้จริง จักรวาลแบบนั้นก็คงจะแตกต่างจากจักรวาลใบใหม่อันแสนสนุกและเท่จัด ๆ ที่มีชื่อว่า “Gangster All Star”
/
ในจัตุรัส Eendrachtsplein ของเมืองรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มีผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่กลายเป็น เหมือนแลนด์มาร์คของเมือง ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าจนใครผ่านไปผ่านมาเป็นมองต้องเห็น และใช้เป็นที่หมายตาหรือปักหมุดการเดินทาง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นของศิลปินที่ วิตถารที่สุดในโลกศิลปะ ผู้มีชื่อว่า พอลแมคคาร์ธี (Paul McCarthy) (อย่าจําสับสนกับ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) แห่ง The Beatles ล่ะ!) ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน ผู้สร้างผล งานศิลปะที่เต็มไปความตลกโปกฮา บ้าบอ ไปจนถึงวิปริต วิตถาร ลามกจกเปรต ไร้ยางอาย และ น่าหวาดผวาราวกับฝันร้าย เพื่อโจมตีค่านิยมและคุณค่าทางจริยธรรมในสังคมอเมริกัน
/
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีกระแสดรามาในโลกออนไลน์ที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องอาหารเตาถ่านเตาแก๊ส ผนวกกับภาพยนตร์ไทยยอดฮิตทางช่อง Netflix อย่าง Hunger ที่ปลุกกระแสอาหารเอเชียอย่าง ก๋วยเตี๋ยวผัด ให้โดดเด่นเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่หยิบเอาอุปกรณ์การทำครัวมาทำงานศิลปะ เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานสั่นสะเทือนวงการศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า มาร์ธา รอสเลอร์ (Martha Rosler)
/
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้
/
เป็นอีกปีที่เราได้ไปเยือนจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากจะได้เที่ยวชม Art scene สัมผัสวัฒนธรรมของเมืองแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดแสดง Art Jakarta 2024 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่มีบทบาทช่วยขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีสีสันและเป็นที่จับตาของคนรักศิลปะทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2009 เทศกาลนี้มีอะไรน่าสนใจ แล้วทำไมถึงควรค่ากับการกลับไปซ้ำอีกในปีหน้า
/
“ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...
We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )