ศิลปินผู้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งวิถีชีวิตในชุมชนด้วยศิลปะภาพพิมพ์สามมิติ อมร ทองพยงค์ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

ศิลปินผู้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งวิถีชีวิตในชุมชน
ด้วยศิลปะภาพพิมพ์สามมิติ อมร ทองพยงค์
Writer: Panu Boonpipattanapong
อมร ทองพยงค์

  เมื่อพูดถึงงานศิลปะภาพพิมพ์ มิตรรักแฟนศิลปะส่วนใหญ่อาจมักคุ้นกับงานศิลปะสองมิติบนกระดาษแบน ๆ ใส่กรอบกระจก แขวนในห้องแสดงงานศิลปะสีขาวสะอาดตา ให้ผู้ชมได้พินิจพิจารณาดื่มด่ำไปกับรายละเอียดของผลงานเหล่านั้นด้วยสายตา แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ศิลปะภาพพิมพ์มีอะไรมากกว่านั้นให้ทดลองและค้นหา ดังที่ปรากฏในผลงานของ อมร ทองพยงค์ ศิลปินหนุ่มชาวชลบุรีผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญในการทำงานศิลปะภาพพิมพ์ในเทคนิคเฉพาะ ที่หาดูได้ยากและหาคนทำได้น้อยอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่มีชื่อเรียกว่า ภาพพิมพ์โลหะเมซโซทินท์*
   อมรได้รับรางวัลจากเวทีประกวดศิลปะภาพพิมพ์จากทั้งในประเทศและในระดับสากลหลากหลายรางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลสำคัญที่สุดในการประกวดศิลปะภาพพิมพ์ของโลกอย่าง International Mezzotint Festival ที่รัสเซีย ในปี 2015 และ 2019 เขายังเข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการภาพพิมพ์ในประเทศอินเดีย, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, โปแลนด์, ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, จีน และอิตาลี อีกด้วย

*ภาพพิมพ์โลหะเมซโซทินท์ (Mezzotint) : เป็นวิธีการทำภาพพิมพ์โลหะร่องลึก (Intaglio) ชนิดหนึ่ง ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยนายทหารชาวเยอรมันชื่อ ‘ลุดวิก วอน ซีเกน’ ในปี ค.ศ. 1642 คำว่า Mezzotint มาจากภาษาอิตาเลียนว่า “mezzo” (ลด) กับ “tinta” (เงา) โดยเทคนิคชนิดนี้ ศิลปินจะสร้างแม่พิมพ์ให้เป็นรอยหยาบทั่วกันทั้งแผ่น ด้วยเครื่องมือโยกที่มีปลายเป็นรอยฟันเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ‘Rocker’ เพื่อสร้างน้ำหนักดำบนแผ่นแม่พิมพ์ขัดเงา และใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า ‘Burnisher’ ลบรอยหยาบบนแม่พิมพ์ เพื่อสร้างภาพด้วยการไล่น้ำหนักเข้มไปอ่อน ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้จินตนาการถึงการเอายางลบค่อย ๆ ลบกระดาษที่ถูกฝนดินสอดำจนเต็มแผ่นออกทีละนิด หรือใช้ดินสอสีขาววาดรูปบนกระดาษสีดำ จนกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

  ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาอย่าง ALONG THE WAY การเดินทางของเวลา” อมรใช้ผลงานภาพพิมพ์หลายร้อยชิ้นของเขาต่างชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นศิลปะจัดวางในรูปของอาคารบ้านเรือนไม้ย้อนยุค ที่มีทั้งประตู, หน้าต่าง, ฟุตบาท, เสาไฟ, ตู้โทรศัพท์ ซึ่งไม่เพียงเปิดโอกาสให้ผู้ชมดูชมด้วยสายตา หากแต่สามารถเดินเข้าไปอยู่ในผลงาน และสัมผัส จับต้อง หรือแม้แต่เดินขึ้นไปเหยียบบนผลงานได้จริง ๆ

   อมร ศิลปินเจ้าของผลงาน กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการในครั้งนี้ของเขาว่า
   “Along The way เป็นนิทรรศการที่เป็นความฝันของคนทำงานศิลปะอย่างผม เหมือนในวัยเด็กเราได้เห็นศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ ทำงานในสเกลใหญ่ ๆ  มีการจัดการเยอะ เราก็ใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งเราจะทำงานแบบนี้ได้บ้าง อยากทำงานในแนวคิดที่ใช้ตัวภาพพิมพ์สร้างวัตถุให้มีขนาดเท่าจริงขึ้นมาได้ พอถึงวันนี้เราก็ทำความฝันนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา”

   “งานชุดนี้เริ่มต้นจากการที่ผมชอบและหลงใหลในบ้านเก่า เพราะสมัยก่อนผมอาศัยอยู่ในชุมชนจีนเก่าแก่ที่ชลบุรีชื่อ ชุมชนบ้านชากแง้ว ที่นั่นมีบ้านไม้เก่าแก่อยู่มาก ทำให้ผมจะเห็นวิถีชีวิตในชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นโรงน้ำแข็ง เคยเป็นร้านขายของชำ ฯลฯ พอเวลาผ่านไป พื้นที่และวิถีชีวิตเหล่านี้ก็ถูกกลืนด้วยกระแสสังคมที่หมุนไปเรื่อย ๆ บ้านเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หายไปทีละหลังสองหลัง บางหลังโดนรื้อกลายเป็นคอนโดฯ ที่จอดรถ สวนน้ำ บางหลังถูกดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม ผมก็เลยถ่ายรูปบ้านเหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่จะหายไป และทำเป็นงานภาพพิมพ์ในหัวข้อเกี่ยวกับบ้าน เพื่อเป็นการเก็บสะสมความทรงจำ และดึงมิติเวลาของบ้านเก่าในชุมชนของเราเอาไว้ ให้อยู่ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป ผมก็เอางานชุดนี้ไปให้ทางผู้นำชุมชนดู ก็มีคนสนใจ แล้วก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาชุมชนนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปในที่สุด”

   “หลังจากจบงานชุดนั้น ผมได้ข่าวว่าชุมชนตลาดเก่าแก่ที่สัตหีบที่ผมเคยไปตอนเด็ก ๆ กำลังจะถูกไล่รื้อ ก็เลยรีบไปถ่ายภาพเก็บเอาไว้ และเอามาทำเป็นงานชุดหนึ่งที่ตั้งใจแสดงถึงความเป็นชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนงานอีกชุดที่ทำที่สัตหีบ ผมตั้งชื่องานเป็นพิกัด GPS เมื่อคนดูนำไปเสิร์ชในกูเกิล เอิร์ธ ก็จะพาไปโผล่ที่ตำแหน่งของบ้านแต่ละหลัง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีบ้านอยู่อีกต่อไป หรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนเหล่านั้น เพียงแต่ทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในฐานะศิลปิน”

   “ที่ผ่านมา ผมนำเรื่องราวของสิ่งของเก่า ๆ ให้กลับมาปรากฏในปัจจุบัน แต่ในนิทรรศการครั้งนี้ ผมกำลังบันทึกปัจจุบันที่กำลังไหลไปสู่อนาคตแทน ทั้งบ้านไม้ งานกราฟิตี้ และสตรีทอาร์ต ที่บันทึกข้อความทั้งหลาย ต่างก็มีระยะเวลาที่เก่าไปเรื่อย ๆ ทั้งตัวงาน หรือถ้อยคำศัพท์แสงต่าง ๆ ที่เขียนไว้ เป็นการบันทึกความเป็นปัจจุบันเพื่อให้คนได้ตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่ตัวโครงสร้างบ้านไม้ที่แสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่คือโครงสร้างสังคมที่แสดงถึงความเป็นอยู่คนไทยเชื้อสายจีน ที่ถูกดัดแปลงรูปแบบไปด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน กราฟิตี้สตรีทอาร์ตเหล่านี้เป็นข้อความที่คนทำต้องการจะสื่อสารให้สังคมหรือผู้มีอำนาจรัฐได้รับรู้”

   อมรยังกล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนจากการทำงานภาพพิมพ์แบบสองมิติ มาทดลองทำงานศิลปะจัดวางสามมิติว่า
   “ก่อนหน้านี้ผมทำงานแบบนั่งโต๊ะ บรรจงเขียนแม่พิมพ์อยู่ตลอดเวลา มาวันหนึ่งผมเริ่มรู้สึกว่า เราอยู่กับรูปแบบนี้มา 10 กว่าปี แล้วเราจะอยู่แบบนี้ต่อไปอีก 10 ปีหรือ? ผมทำภาพพิมพ์เมซโซทินท์แบบดั้งเดิม ในการค้นคว้าเทคนิค ผมทดลองใช้แม่พิมพ์ทุกรูปแบบกับหลากวัสดุมาประมาณ 15 ปี เพราะฉะนั้นตอนนี้ถึงวัยที่ผมควรจะขยับจากตัวการทำงานแบบประเพณี มาสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ คืองานศิลปะจัดวางในรูปของบ้านไม้ ที่องค์ประกอบของไม้สร้างขึ้นมาจากงานภาพพิมพ์ทั้งหมด”

   ถึงแม้จะถูกนำเสนอในฐานะผลงานศิลปะจัดวางสามมิติ แต่ผลงานในนิทรรศการ ALONG THE WAY ก็ยังคงไว้ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคของศิลปะภาพพิมพ์อย่างเต็มเปี่ยม
   “งานในครั้งนี้ผมใช้ความเป็นจำนวนซ้ำของภาพพิมพ์จริง ๆ งานชุดนี้จึงมีแม่พิมพ์อยู่แค่ 6 เพลท พิมพ์งานภาพพิมพ์บนกระดาษประมาณ 300 กว่าแผ่น เพื่อประกอบกันเป็นบ้านไม้ โดยใช้ความซ้ำ ๆ กันนี้สร้างเป็นไม้กระดานของบ้านขึ้นมา แต่ในครั้งนี้ผมท้าทายตัวเอง (และผู้ช่วยอีกสองคน) เพราะโดยปกติ เวลาพิมพ์งานทุกครั้ง เราต้องพิมพ์ออกมาให้เหมือนกันหมดทุกครั้งโดยไม่ผิดเพี้ยน แต่ครั้งนี้ เราตั้งเป้าว่าจะพิมพ์งานแต่ละครั้งให้ไม่เหมือนกันเลย เพื่อให้ไม้แต่ละแผ่นมีค่าน้ำหนักที่แตกต่างกัน เรื่องตลกก็คือ สามวันแรกทีมงานเราพิมพ์ออกมาเหมือนกันหมดด้วยความเคยชิน เราก็ต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ กระบวนการเช่นนี้ทำให้คนทำงานได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ผู้ชมเองก็จะได้ความตื่นเต้นในการเสพงานภาพพิมพ์ในรูปแบบใหม่ ๆ เพราะก่อนหน้านี้ งานภาพพิมพ์เป็นงานที่เสพได้ค่อนข้างจำกัด เพราะต้องอยู่ในกรอบ มีห้องแสดงงานสีขาวสะอาด จัดแสงดี ๆ ห้ามสัมผัสจับต้องงาน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ยาก แต่พอเราแสดงงานในรูปแบบที่คนรู้สึกคุ้นเคย ชินตา หรือเคยเจอมาก่อน ก็จะทำให้เขากล้าที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับงาน กลายเป็นการเสพงานวิธีใหม่ ๆ พอทุกคนรู้ว่างานศิลปะจัดวางของเราทำจากภาพพิมพ์ เขาก็จะนั่งลงที่พื้น ที่ฟุตบาท เพื่อดูรายละเอียด  ซึ่งก็ตรงกับบุคลิกของงานภาพพิมพ์อยู่แล้ว ที่ผู้ชมต้องดูรายละเอียดของงานอย่างใกล้ชิด แถมจับต้องได้ เหยียบได้ด้วย ผมบอกคนดูเลยว่าเหยียบได้ เพราะผมเชื่อว่า ถ้ากระดาษขาด เราซ่อมได้ แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือ ผู้ชมได้เรียนรู้ว่าภาพพิมพ์คืออะไร มีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ชมเข้าใจงานภาพพิมพ์มากขึ้น”

   “อย่างพวกพื้นผิวของพื้น หรือฟุตบาตที่เป็นซีเมนต์ เทคนิคภาพพิมพ์เมซโซทินท์นั้นใช้ไม่ได้ เราก็ไม่จำกัดว่าเราต้องทำภาพพิมพ์เมซโซทินท์อย่างเดียว เพราะตอนเราสอน เราก็ต้องทำทุกเทคนิคสาธิตให้นักศึกษาดูอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ทำภาพพิมพ์โลหะร่องลึกกัดกรด (Etching) ให้ดูเลยว่าเราใช้เทคนิคภาพพิมพ์สร้างพื้นผิวของวัสดุอะไรได้บ้าง”

   นอกจากศิลปะจัดวางบ้านไม้ที่ทำจากภาพพิมพ์แล้ว ยังมีผลงานสตรีทอาร์ต กราฟิตี้ และศิลปะจัดวางในรูปของภาพกราฟิตี้ที่ฉายจากโปรเจ็กเตอร์ลงไปบนบ้านไม้อีกด้วย เรียกได้ว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนผสมของงานศิลปะภาพพิมพ์และสตรีทอาร์ตเลยก็ว่าได้
   “ถ้าสังเกตดี ๆ ศิลปินสตรีทอาร์ตไม่ค่อยพ่นงานกราฟิตี้ลงบนบ้านไม้เท่าไหร่ อาจจะด้วยความที่เราเป็นคนไทย เลยมีจิตสำนึกอยู่เบื้องลึกบางอย่างหรือเปล่าก็ไม่รู้ เต็มที่เราก็แปะสติกเกอร์ลงบนบ้านไม้ เราก็เลยใช้สื่อที่เป็นโปรเจ็กเตอร์ฉายภาพลงไปแทน”

   “ศิลปินที่มาพ่นกราฟิตี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อน ๆ หรือศิลปินสตรีทอาร์ตที่มีชื่อเสียงที่แวะเวียนมาที่ Dream space ต่างก็มาช่วยกันพ่นกันอย่างมันมือ ศิลปินกราฟิตี้รุ่นน้องชาวไทยเห็นแล้วมาขออนุญาตผมบอมบ์ เพราะปกติเขาคงไม่ได้มีโอกาสได้บอมบ์งานของศิลปินชื่อดังพวกนี้ในต่างประเทศ ผมก็ยินดี บอกให้บอมบ์เลย ผมอยากให้เป็นการบันทึกวัฒนธรรมสตรีทอาร์ตในช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ เพียงแต่บริบทและพื้นที่กลับเข้ามาอยู่ข้างในหอศิลป์แทน เป็นการเอาข้างนอกมาไว้ข้างในเพื่อให้เกิดการฉุกคิด หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดของงานสองประเภทนี้”

  “ด้วยขนาดของงานที่ค่อนข้างใหญ่ ก็จะทำให้เกิดความประหลาดใจ แล้ว เมื่อเจอรายละเอียดว่าเป็นงานภาพพิมพ์ด้วย ก็ยิ่งทำให้คนสนใจ คนต่างชาติที่เดินเข้ามาตอนแรก เขาก็นึกว่าเป็นงานศิลปะจัดวางรูปบ้านไทยย้อนยุคเท่านั้น แต่พอเราบอกว่าเป็นภาพพิมพ์เมซโซทินท์ เขาก็บอกผมว่านี่เป็นภาพพิมพ์เมซโซทินท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เลยนะ”

  “ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยทำงานทดลองในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้เลย นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทดลองจัดการผลงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่มีรายละเอียดของงานภาพพิมพ์อัดแน่นในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นฝาบ้าน หลังคา สังกะสี เสาไฟ หรือฟุตบาท ผมถอดสเกลของบ้านออกมาให้ใกล้เคียงของจริงที่สุด”

   “ถ้าเรากลับไปมองเมืองเวนิส หรือเมืองในประเทศต่าง ๆ เขามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เพราะอาคารบ้านเรือน ท้องถนนของเขาสร้างด้วยอิฐด้วยหิน แต่อาคารบ้านเรือนของเราเป็นเหมือนพืชล้มลุก อยู่ไม่คงทนถาวร หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นโครงสร้างพวกนี้ก็ควรได้รับการบันทึกเอาไว้ เพราะมันจะสึกกร่อนสูญหายไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา นอกจากนี้ ผมอยากแสดงให้ผู้ชมเห็นว่า งานภาพพิมพ์นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบตลอดเวลา หากแต่สามารถออกนอกกรอบได้ด้วย”

   นอกจากนิทรรศการ Along The way แล้ว อมรยังเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการจัดงานเทศกาลศิลปะภาพพิมพ์ หรือ PRINTMAKING FESTIVAL 2022 ขึ้นที่ DREAM SPACE GALLERY ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอีกด้วย
   “ที่เราจัดเทศกาล PRINT FES ครั้งนี้ก็เพราะ ในสองสามปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสนิยมในการที่งานภาพพิมพ์ที่ถูกศิลปินสตรีทอาร์ตนำไปใช้เป็นเทคนิคในการผลิตงานสำหรับจำหน่ายให้แฟน ๆ หรือนักสะสมเก็บได้ เพราะศิลปินสตรีทอาร์ตเบอร์ใหญ่ ๆ ของโลกเขาเข้าใจถึงคุณภาพของงานภาพพิมพ์ แต่ปัญหาคือนักสะสมหรือศิลปินรุ่นใหม่ ๆ บางคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเทคนิคภาพพิมพ์ เขาคิดว่ามันเป็นแค่หนึ่งในวัตถุดิบที่ทำให้เขาขายงานได้ ไม่ต่างอะไรกับงานพิมพ์ดิจิทัลอย่างอิงค์เจ็ท เราก็เลยทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยที่เราต้องการทำให้สตูดิโอภาพพิมพ์ต่าง ๆ เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน จนมาถึงปีนี้เราได้จำนวนสมาชิกทั้งหมด 40 กว่าสตูดิโอภาพพิมพ์ทั่วประเทศไทย และทาง DREAM SPACE GALLERY เองก็สนับสนุนสถานที่ให้เรา การทำแบบนี้ทำให้เราเห็นประโยชน์จากการที่กลุ่มคนหลาย ๆ คนมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสตูดิโอ นักศึกษาศิลปะภาพพิมพ์ ทั้งที่เรียนอยู่และที่จบมาใหม่ ๆ กำลังตั้งสตูดิโอ นักสะสม และนักท่องเที่ยว เราอยากสร้างชุมชนศิลปะภาพพิมพ์ขึ้นมา และเราก็รู้สึกว่าตอนนี้เราก็ได้รับการตอบรับที่ดีอีกด้วย”

   นิทรรศการ “ALONG THE WAY การเดินทางของเวลา” โดย อมร ทองพยงค์ ถูกจัดแสดงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 - 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ DREAM SPACE CNX จังหวัดเชียงใหม่

    TAG
  • อมร ทองพยงค์
  • art
  • exhibition
  • ALONG THE WAY
  • Amorn Thongpayong

ศิลปินผู้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งวิถีชีวิตในชุมชนด้วยศิลปะภาพพิมพ์สามมิติ อมร ทองพยงค์

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
2 years ago
CONTRIBUTORS
Panu Boonpipattanapong
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong2 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong2 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM3 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong4 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Out of Frame การล่องแพในแม่น้ำเพื่อสำรวจหาเส้นทางใหม่ๆ แห่งการทำงานจิตรกรรมของ Lee Joon-hyung

    เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึง เคป็อป หรือซีรีส์เกาหลี แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ไม่ได้มีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น หากแต่ เคอาร์ต หรือวงการศิลปะเกาหลีก็มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจเหมือนกัน ดังเช่นที่เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินเกาหลีใต้ ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงในบ้านเรา

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )