2019 UABB in Xichong, Shenzhen ปฏิสัมพันธ์เมืองอย่างอิสระ | IAMEVERYTHING.CO

LOOKING ON EVERYTHING ?

EXPLORE ON EVERYTHING

2019 UABB in Xichong, Shenzhen
ปฏิสัมพันธ์เมืองอย่างอิสระ
เรื่อง กิตติพงษ์ พฤกษชาติ (Kittipong Pruksachat)

เครื่องบินลงจอดที่สนามบินนานาชาติเป่าอัน เมืองเซินเจิ้น ด้วยความตั้งใจเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการ Urbanism and Architecture bi-city biennale (UABB) ที่สถานตากอากาศ Xichong ชายหาดทางทิศตะวันออกของเมือง สถานที่รองสำหรับจัดงานนี้ (Sub-Venue) ซึ่งมีความน่าสนใจทั้งตัวสถานที่และชิ้นงานที่จัดแสดง หลังจากนั่งรถออกจากสนามบินเพียงไม่นาน ภาพของตึกระฟ้า Pingan ตึกที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก และอาคารสถาปัตยกรรมรูปทรงล้ำสมัยค่อยๆ ปรากฏขึ้น ซึ่งดูเปลี่ยนไปมากจากครั้งที่ผมทำงานอยู่ที่นี่เมื่อหลายปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับ 40 ปีก่อนหน้านี้คงแตกต่างกันลิบลับ จากเมืองประมงเล็กๆ ถูกยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญของจีน ทำให้ตลอดระยะเวลาหลังจากนั้นเมืองเซินเจิ้นได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นเมืองที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานผังเมืองตระหนักถึงผลกระทบที่อาจตามมาในอนาคต จึงริเริ่มสร้างพื้นที่สำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเมือง อันเป็นที่มาของการจัดงาน UABB ขึ้นทุกสองปี โดยให้ความสำคัญและพูดถึงเรื่อง “เมือง” โดยเฉพาะ ซึ่งงานเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 ปีนี้ถือเป็นปีที่แปดที่มีงานนี้มา โดยจะจัดขึ้นในระยะเวลาสามเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม

รถแล่นผ่านสถานีรถไฟความเร็วสูง ฟูเทียน (futian) สถานที่หลักของการจัดงาน UABB ในปีนี้ โดยใช้หัวข้อหลักของงานคือ “ปฏิสัมพันธ์เมือง (city interaction)” เนื่องมาจากการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว อันส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองและผู้อยู่อาศัยในเมือง ยิ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมืองมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อเมืองในอนาคต งานนี้จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งนักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ มาร่วมแสดงผลงานในแนวคิดดังกล่าว โดยพื้นที่ทั้งหมดของงาน UABB ในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่าง คนและพื้นที่เมือง โดยเป้าหมายคือปรับปรุงการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งหัวข้อของแต่ละพื้นที่จะเปลี่ยนไปตามบริบทของสถานที่ แต่อยู่ภายใต้แนวคิดหลักเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์เมือง”

เมื่อมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชนบททางด้านตะวันออกเพียง 40 กิโลเมตรจากตัวเมืองก็ถึงจุดหมาย สถานพักตากอากาศ Xichong สถานที่ที่มีชายหาดโอบล้อมด้วยภูเขาและทะเล อันสวยงาม เงียบสงบ หลุดพ้นจากความวุ่นวายในเมือง ผู้คนมาเที่ยวชายหาดแห่งนี้ค่อนข้างบางตาอาจเพราะเป็นฤดูหนาวที่ไม่เหมาะกับการมาเที่ยวทะเลเท่าไหร่ประกอบกับเป็นวันธรรมดา บริเวณพื้นที่รีสอร์ทจึงมีแค่เหล่าศิลปิน ผู้ออกแบบ ที่ยังขะมักเขม้นกับการติดตั้งผลงานเพื่อให้ทันกับงานเปิดในช่วงบ่าย งานเปิดนิทรรศการถูกจัดขึ้นบริเวณสวนริมหาดใต้ต้นไม้ใหญ่ในรูปแบบที่เรียบง่ายแต่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง เข้ากับหัวข้อหลักของที่นี่อย่าง “At Ease” เป็นอย่างมาก

“At Ease” มีความหมายถึงความรู้สึกผ่อนคลายหรืออิสระ แต่ในขณะเดียวกันคํานี้ในปรัชญาเต๋ายังหมายถึงสถานะที่ดํารงอยู่อย่างอิสระ หรือเรียกว่า “นิ่งเฉย” ด้วยบริบทและแนวความคิดที่มองรูปแบบปฏิสัมพันธ์นี้อย่าง “อิสระ” ทําให้ผู้ชมได้พิจารณาความเชื่อมโยงของเมืองผู้คนเทคโนโลยีตลอดจนธรรมชาติในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น

หลังจากการกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ผู้ร่วมแสดงผลงานและผู้จัดงานได้พาชมผลงานของตัวเองพร้อมอธิบายถึงที่มาและแนวคิด ผลงานถูกจัดแสดงทั้งในอาคาร ในสวน และบนชายหาด มีทั้งสิ้น 32 ชิ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามหัวข้อที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและพื้นที่ทางธรรมชาติ แต่ในที่นี้จะขอเล่าผลงานที่น่าสนใจในแต่ละกลุ่มเพียงบางชิ้นงานเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดของแต่ละกลุ่มมากขึ้น

ทัศนียภาพบนฉาก(Nature on screen)

กลุ่มผลงานที่สะท้อนถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการ “มอง” ของเราต่อธรรมชาติรอบตัว จากการมองด้วยสายตาเป็นการมองผ่านหน้าจอมือถือเพื่อแชร์ไปในโลกออนไลน์ ทําให้เกิดคําถามว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้จะส่งผลกระทบต่อกระบวนความคิดของเราต่อพื้นที่อย่างไร โดยศิลปินและนักออกแบบเลือกถ่ายทอดมุมมองผ่านการ “มอง” ที่หลากหลาย ดังเช่น ผลงาน หลังการเชื่อมต่อ (后连接) ของ MAT Office ที่เสนอมุมมองการเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านระบบตารางลูกบาศก์, ผลงาน ก้าวผ่านหน้าจอ (屏间穿越) ของ Li Feng และ Cui Min (李丰+崔敏) ที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมกับเมืองผ่านมุมมองของระบบ VR, ผลงาน มอง (见) ของศิลปินอิสระ Cheng Weicai (陈伟才) ที่เลือกมองธรรมชาติผ่านช่วงเวลาที่ทับซ้อน เป็นต้น

หลังการเชื่อมต่อ MAT Office
ก้าวผ่านหน้าจอ Li Feng, Cui Min
 มอง Cheng Weicai

ผลงาน สถาปัตยกรรมลอยฟ้า (建筑学通天塔) ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว (School of Architecture, Tsinghua University) เป็นผลงานที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในจีนได้อย่างน่าสนใจ โดยหยิบยกนำเรื่องเล่าของหอคอยบาเบล (Babel) ของชาวฮิปบรู มาเป็นแรงบันดาลใจ ผ่านผลงานการออกแบบทั้งสองชิ้นที่แตกต่างกัน ชื้นแรกเป็นภาพดิจิตอลที่จัดเรียงอักษรจีนสีขาวเป็นรูปทรงอาคารบนพื้นหลังสีดำ โดย Liu Chen (刘晨) หนึ่งในผู้ออกแบบได้อธิบายว่า ตัวอักษรจีนที่ปรากฏนั้นถูกลดทอนเส้นจนไม่รู้ว่าคือตัวอักษรอะไร อีกทั้งการเรียงของตัวอักษรจีนแต่ละตัวก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน จนยากที่จะหาความหมายที่สมบูรณ์ได้ เป็นการสะท้อนถึงปัญหาด้าน “ภาษาสถาปัตยกรรม” ของจีนที่พยายามคิดค้นและหาความหมายของมัน แม้ว่าจะมีการจัดงานด้านสถาปัตยกรรมในทุกๆ ปี แต่ต่างคนต่างแสดงความคิดโดยไม่พยายามเข้าใจในแนวคิดของกัน เหมือนดั่งหอคอยบาเบล ที่เหล่าคนงานถูกพระเจ้าสาปให้พูดคนละภาษาจึงสร้างหอคอยเทียมฟ้าไม่สำเร็จ ส่วนชิ้นที่สอง เป็นการจัดเรียงกระดิ่งลมแสตนเลส 103 ชิ้น เป็นรูปทรงพีระมิดคว่ำ ยอดด้านล่างเป็นกระดิ่งที่จำลองหอคอยบาเบลจากผลงานของปิเตอร์ เบรอเคิล (Pieter Bruegel) ส่วนอีก 102 ชิ้นเป็นการจำลองเจดีย์ห่านป่าใหญ่ที่ซีอาน สร้างด้วยอิฐสมัยราชวงศ์ถังที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผลงานชิ้นนี้อาจแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านไปยังอนาคต จากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏจากอดีตไปสู่สิ่งก่อสร้างในอุดมคติ โดยใช้การจัดการจากระดับล่างขึ้นบน

ยุคหลังการรวมกลุ่ม (Post collective era)

กลุ่มผลงานที่แสดงถึงแนวความคิดความเปลี่ยนแปลงของ “การรวมกลุ่ม” ในอดีตภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจการปฏิรูปอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มคน ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งการสร้างชุมชนในโลกออนไลน์กับคนแปลกหน้า ทำให้ “ยุคหลังการรวมกลุ่ม” ยังเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่มีรูปแบบแน่นอนตายตัว เราจึงจำเป็นต้องกลับมาสำรวจอีกครั้งว่า อะไรคือความหมายและสถานะที่แท้จริงของการรวมกลุ่ม

ผลงานที่แสดงถึงการ “รวมกลุ่ม” ที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ผลงาน กองไฟ (篝火) ของ MAT Office (超级建筑) ออฟฟิตที่มีผลงานการออกแบบทั้ง ออกแบบภายใน สถาปัตยกรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการต่างๆ มาแล้วทั้งในจีนและระดับนานาชาติอย่าง Venice architecture biennale มามากมาย งานของ MAT Office ในนิทรรศการ UABB ครั้งนี้ ยังคงเสนอแนวความคิดที่แปลกใหม่ให้กับพื้นที่ พร้อมๆ กับสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับผู้ชม ด้วยการออกแบบที่ว่างรูปแบบใหม่บนพื้นที่ปิ้งบาร์บิคิว หรือ ซาวเข่า (烧烤) อาหารขึ้นชื่อของเมืองเซินเจิ้น Tang Kangshou และ Zhang Miao (唐康硕 + 张淼) สองสถาปนิกผู้ออกแบบ ได้อธิบายถึงที่มาของผลงาน โดยเปรียบเทียบโต๊ะนั่งปิ้งบาร์บีคิวแบบเดิมที่มีลักษณะซ้ำๆ กัน เหมือนดัง “ยุคการรวมกลุ่ม” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เมื่อมีการเปิดประเทศมากขึ้นในยุคหลัง ประกอบกับการเข้ามาของระบบการค้าเสรี ทำให้การรวมกลุ่มค่อยๆ หายไป

อะไรคือ “การรวมกลุ่ม” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และการค้าเสรีจะทำลายระบบรวมกลุ่มได้อย่างไร ทั้งที่น่าจะส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยซ้ำ แต่หากมองด้วยบริบททางสังคมนิยมแบบจีนทำให้เราเข้าใจได้ว่า “การรวมกลุ่ม” ของจีนยุคก่อนในสมัย เหมา เจ๋อตง ที่พยายามเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมให้กลายเป็นระบบอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด ทำให้คนจีนชนชั้นแรงงานต้องมาอาศัยร่วมกัน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จะต้องแบ่งปันกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เรียกว่าการรวมกลุ่มนี้ว่า สังคมการรวมกลุ่ม (commune life) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนภายในกลุ่มย่อยๆ ให้สามารถผลิตผลผลิตให้กับทางรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคนในยุคสมัยหลังจากนั้นอีกกว่าสิบปี ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมการรวมกลุ่มของคนแก่ในจีน ที่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ดื่มชา เล่นไพ่ หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายฟ้อนรำในช่วงเย็น

ไม่เพียงแต่การค้าเสรีจะทำให้การรวมกลุ่มนั้นล่มสลาย แต่ได้เกิดการรวมกลุ่มแบบใหม่ขึ้นมาแทนที่ เกิดปัจเจกบุคคลที่ต้องการ “อิสระ” มากขึ้น ตลอดจนการเกิดขึ้นของ Social network ในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้การ “รวมกลุ่ม” และการ “แบ่งแยก” มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป สองสถาปนิกยังได้เล่าต่อถึงแนวคิดการออกของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปิ้งบาร์บีคิวแห่งนี้ว่า ภายใต้โครงเหล็กสีเหลืองเสียบยึดโยงจากเตาปิ้งหนึ่งไปยังอีกเตาปิ้งหนึ่งมีลักษณะคลายโครงสร้งของกระโจม เป็นสิ่งก่อสร้างการรวมกลุ่มของมนุษย์ในยุคแรก แถบยางยืดถูกสานเป็นระนาบเหนือหัวไหวตามลมทะเล ตลอดจนเงาของแถบยางยืดที่พาดผ่านบนพื้นได้กำหนดขอบเขตของพื้นที่แห่งนี้ขึ้นใหม่ แสดงให้เห็นถึงการทำลายระบบเก่าและสร้างพื้นที่สำหรับรวมกลุ่มรูปแบบใหม่ที่มีการเชื่อมโยงอย่างอิสระและเคลื่อนไหวตลอดเวลา สีสเปร์ยที่พ่นลงบนพื้นและเก้าอี้นั่ง ได้สร้างความแตกต่างออกจากส่วนเก่า สื่อให้เห็นถึงความเป็น “ปัจเจก” ของคนยุคปัจจุบัน ด้วยสีสันที่สดใสและรูปแบบของโครงสร้างที่น่าสนใจ ช่วยดึงดูดให้ผู้ชมเข้าไป “รวมกลุ่ม” ใต้หลังคานี้ ที่เป็นการรวมกลุ่มจากความ “สมัครใจ” และมี “อิสระ” ในการจับกลุ่มว่าจะนั่งบริเวณใด

พื้นที่ในความทรงจำ (Momentary Space)

กลุ่มผลงานที่เล่นกับบริบทของพื้นที่ พร้อมๆกับหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่าผลงานหรือสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่กลางธรรมชาติ ว่าควรจะอยู่ถาวรหรือแค่ชั่วคราวแล้วสลายไปเหมือนวัฎจักรของธรรมชาติหรือไม่ การมีอยู่และความจริงของการมีอยู่นั้นคืออะไร ปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องความจริงและการมีอยู่ของธรรมชาติ ถูกนำเสนอผ่านผลงาน ไอน้ำ “ความจริง” กับการรับรู้อย่างอิสระ (溪涌“物自体”的自在感知器) ของ Jizhunfangzhong Architectural design Co., Ltd 基准方中建筑设计有限公司设计机构

โดยเชื่อว่า ทะเล ทราย เมือง แสง ลม ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่กระทำต่อประสาทสัมผัสและกระตุ้นการรับรู้ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เรียกโดยรวมสิ่งเหล่านี้ว่า ลักษณะเฉพาะของความจริงเชิงวัตถุวิสัย (Objective Reality) ซึ่งเราสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้จากทฤษฎีของ อิมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือ “ความจริงในตัวเอง หรือเป็นสิ่งแท้จริง (Noumena, Thing in itself)” แต่เราไม่สามารถรับรู้ความจริงได้ด้วยประสาทสัมผัส ดังนั้นผู้ออกแบบจึงใช้กล่องโลหะเป็นเครื่องมือสำหรับการรับรู้ “ความจริง” ของสิ่งเหล่านี้ผ่านปรากฏการณ์

​กล่องโลหะกลวงสะท้อนแสงถูกติดตั้งเรียงเป็นวงกลมบนชายหาด เมื่อแสงแดดสาดกระทบกับกล่องโลหะและสะท้อนกลับไป ทำให้เราเห็นภาพของลำแสงนั้น เมื่อดวงอาทิตย์จากไป อุณหภูมิความร้อนจะยังคงอยู่ในกล่องโลหะ ทำให้เรารับรู้ความจริงและการมีอยู่ของดวงอาทิตย์ เมื่อลมจากทะเลพัดผ่านเข้าสู่ช่องเล็กๆ ที่เจาะไว้ด้านล่างของกล่องโลหะทำให้เกิดการสั่นและเกิดเสียง ทำให้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของลมทะเล เสียงนั้นเหมือนดังเสียงที่มาจากทะเล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเสียงของไอน้ำ เราสามารถรับรู้และเพลิดเพลินไปกับควาามงามของชิ้นงานนี้จากแสงที่สะท้อนและหักเหลงบนพื้น การเรียงตัวของกล่องโลหะที่ตั้งเป็นวงกลมโดดเด่นบนพื้นทราบ ได้เชื้อเชิญให้เราอยากเข้าไปอยู่กลางวง พร้อมฟังเสียงของลมผ่านกล่องโลหะนี้

แถวของจักรยานสาธารณะถูกติดตั้งบนชายหาดกำลังมุ่งหน้าออกสู่ทะเลผ่านฉากโลหะสะท้อนที่เจาะช่องไว้ตรงกลาง ผลงาน ที่ไหน? คือใคร ? จะไปไหน? (在哪?是谁?去哪?) ของกลุ่มนักออกแบบจาก School of Architecture Shenzhen University, SITI International และ Houfu Design (深圳大学建筑学院, 悉地国际·是造工作室, 厚夫设计)ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมนโชว์ (The trueman show) ซึ่งเล่าเรื่องของของ ทรูแมน เบอร์แบงค์ ที่อาศัยในโลกของรายการ reality ตั้งแต่เด็กโดยที่ไม่รู้ว่าโลกของเขานั้นมีโลกอีกโลกซ้อนอยู่

จากแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบัน ฉากโลหะแสดงให้เห็นถึงโลกอีกใบที่คล้ายกับโลกของเรา ตรงกลางของฉากเจาะช่องประตูให้เรารู้สึกถึงเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือน ชิ้นงานชิ้นนี้ได้ตั้งคำถามกับผู้ชมว่าที่เราขี่จักรยานมุ่งหน้าผ่านประตูมุ่งหน้าสู่ทะเลนั้น เรากำลังเดินทางไปยังโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือน

แน่นอนว่าคำตอบของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน บางคนต้องการหนีออกจากโลกแห่งความจริงที่วุ่นวายไปสู่โลกเสมือนที่เราสามารถปลดปล่อยและรับรู้ถึงการมีอิสระ แต่บางคนกลับมองว่าเรากำลังมุ่งหน้าสู่โลกแห่งความจริงเพราะโลกที่เรายืนอยู่ในปัจจุบันนั้นเสมือนโลกที่หลอกลวง ผลงานนี้ทำให้เรากลับมาหวนคิดว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกแบบไหนและเราพอใจกับโลกที่อาศัยอยู่หรือไม่ เช่นเดียวกับความจริงที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้างผู้ออกแบบต้องขุดทรายลึกลงไปเกือบ 3 เมตร เพื่อฝังโครงสร้างของฉากเหล้กนี้ลงไป เนื่องจากลมทะเลที่พัดแรงต้านกับทิศทางของชิ้นงาน จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอย่างสูง

Jenchieh Hung และ Kulthida Songkittipakdee (洪人杰, 宋宝庭 ) สองสถาปนิกชาวไต้หวันและไทยแห่ง HAS design and research (中泰建筑研究室) ที่สร้างสรรค์งานออกแบบในจีนมาหลายรายการ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษให้กับโรงเรียนสถาปัตย์ฯ ชื่อดังอย่าง ถงจี้ (Tongji University) และ Xi’an Jiaotong-Livepool University (XJTLU) คุณกุลธิดา เล่าถึงแนวความคิดของผลงาน ศาลาดนตรี นี้ไว้ว่า ฉินถิง (琴亭) เป็นชื่อผลงานที่มาจากลักษณะของศาลา (亭) ผสานกับรูปทรงของเครื่องสาย (琴) โดยได้แนวคิดมาจากเสียงคลื่นของชายหาดแห่งนี้ ที่เกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งผู้บรรเลง (intangible sound)

แผ่นรั้วเหล็กสีขาวที่มีระดับสูงๆ ต่ำๆ และมีความลึกที่แตกต่างกันดั่งคลื่นของทะเล กั้นบังสายตาจากธรรมชาติด้านหลัง ทำให้ผู้ชมได้ชะลอจากความเร่งรีบแบบขีวิตคนเมือง และค่อยๆ พิจารณามองลอดผ่านรั้วนี้สู่ผืนทะเลที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมองที่ต่างไป ขณะที่กึ่งกลางของแนวรั้วถูกเว้นที่ว่างให้เป็นทางเข้าในแนวเดียวกับต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ กับก้อนหินที่ถูกจัดวางเอาไว้ให้ผู้ชมสามารถเข้าไปนั่งมองวิวและฟังเสียงจากทะเล เส้นสลิงสีขาวเหนือหัวแต่ละเส้นที่ขึงรั้วเหล็กไว้กับพื้นชานพักครึ่งวงกลมในรูปแบบ Tensile Structure คล้ายดังเส้นสายของเครื่องดนตรี ครอบคลุมพื้นที่หลังคาของศาลาและทำหน้าที่แทนราวกันตกเดิม

มุมมองจากจุดชมวิวก่อนลงไปที่ชายหาด
สภาพก่อนปรับปรุง
การซ้อนทับชองสลิงเหล็กสีขาวสร้างเส้นสายใหม่ให้กับวิวทะเล

นอกจากนี้ตัวผลงานยังได้คำนึงถึงความสัมพันธ์กับบริบทรอบๆ โดยกำหนดทิศทางเดินของคนจากชานพื้นซีเมนต์ด้านบนลงไปยังชายหาด กุลธิดาเล่าว่าตอนแรกเธอออกแบบแผงเหล็กเป็นเส้นตรงให้ผู้ชมสามารถใช้บันไดได้ทั้งสองด้านจากชานพัก แต่เนื่องจากปัญหาทางด้านเทคนิคทำให้ผู้จัดอยากให้กั้นพื้นที่และให้คนใช้บันไดเพียงฝั่งเดียว ทำให้เธอต้องปรับแบบหน้างานโดยรื้อแผงเหล็กและแนวรั้วเดิมออก แล้วใช้เส้นสลิงกั้นพื้นที่บันไดในส่วนที่ไม่ให้เข้าถึงและนำสายตาคนไปยังบันไดข้างที่ให้เข้าถึงแทน ซึ่งพบว่าดีกว่าแบบที่คิดไว้แต่แรก

เด็กสนุกกับการเล่นเงาที่แผงเหล็ก
ผู้ชมจินตนาการดีดสลิงแทนเครื่องดนตรีสาย
ความกลมกลืนของทรายและแผงเหล็กที่พาผู้ชมลงไปสู่ชายหาด

ความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่างแผ่นเหล็กที่ดูหนักและแข็ง กับเส้นสลิงที่ดูเบาและอ่อนนุ่ม ให้ความรู้สึกที่ตรงกันข้าม ทั้งที่มาจากวัสดุเหล็กเหมือนกัน เป็นความต้องการของผู้ออกแบบที่อยากให้ผู้ชมได้เห็นและรู้สึกถึงความจริงของวัสดุที่เกิดจากการผลิตของอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับเมืองเซินเจิ้นที่เกิดจากการสร้างของมนุษย์ท่ามกลางพื้่นที่ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติเช่นนี้

ในระหว่างที่ชมผลงาน เธอได้เล่าถึงอุปสรรคและวิธีการแก้ปัญหาในขั้นตอนการผลิตผลงานชิ้นนี้ว่า ด้วยระยะเวลาที่น้อยทั้งในการออกแบบและก่อสร้าง ทำให้เลือกที่ออกแบบชิ้นส่วนที่ประกอบเส้นจากโรงงาน เพื่อลดขั้นตอนการประกอบหน้างาน แต่ก็พบกับปัญหาที่หาผู้รับเหมาไม่ได้เนื่องจากระยะเวลาที่กระชั้นชิด งบประมาณที่จำกัด และการเขียนแบบในมุมมองของสถาปนิกที่ละเอียดเกินไป (ปกติศิลปินสเก็ตภาพคร่าวๆ ให้กับผู้รับเหมา) ทำให้ผู้รับเหมาส่วนใหญ่คิดว่าเป็นงานที่ซับซ้อน แต่สุดท้ายก่อนติดตั้งเพียงสัปดาห์เดียวผู้รับเหมาจากบริษัท Shenzhen Fengzhiyu Public Art Co., Ltd. ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเหล็กที่ก่อสร้างให้กับผลงานอื่นๆ ที่นี่ก็ยอมสร้างให้ เพียงเพราะเขาเห็นแบบแล้วชอบมาก อยากสร้างให้สำเร็จ ทั้งที่มีงานเต็มมือเพราะต้องทำให้ศิลปินอื่นๆ อีกสามชิ้นในงานเดียวกัน

รายละเอียดของการยึดสลิงกับแผงเหล็ก และขั้นบันได
ผู้ชมนั่งชมวิวทะเลและพระอาทิตย์ขึ้นในเวลาย่ำรุ่ง
ผังบริเวณของพาวิลเลียนเชื่อมต่อส่วนที่พักกับชายทะเล

เราคุยกันอยู่นาน ดวงอาทิตย์หมุนเปลี่ยนไปตามเวลา เงาของเหล็กที่พาดผ่านพื้นค่อยๆ เปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกถึงการเดินทางผ่านที่ว่างและเวลาตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในพื้นที่ความทรงจำนี้ที่เสียงธรรมชาติยังคงบรรเลงอยู่ตลอดเวลา

หลังจากนำชมแต่ละผลงานเสร็จสิ้น ได้มีการบรรยายแลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ในการทำงานของนักออกแบบแต่ละคน ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการออกแบบและพบว่าแต่ละผลงานล้วนมีกระบวนการและอุปสรรคมากมาย ยิ่งผลงานที่ต้องมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ไม่ใช่ชิ้นงานที่ยกนำมาตั้้งที่ไหนก็ได้ นักออกแบบและศิลปินหลายคนจึงต้องเดินทางและอาศัยอยู่ที่นี่หลายเดือนเพื่อนที่จะผลิตผลงานออกมา ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของแต่ละผลงานมากขึ้น ปิดท้ายงานเปิดนิทรรศการด้วย ปาร์ตี้เล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ ผู้จัดงาน ได้มีโอกาสพูดคุยกันเกี่ยวกับงานที่ทำในปัจจุบันและกำลังจะเกิดในอนาคต เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีแก่เหล่านักออกแบบที่จะได้มีโอกาสในการร่วมงานกันอีก พร้อมทั้งสร้างโครงข่ายและเปิดมุมมองทางความคิดการสร้างสรรค์ให้กว้างมากขึ้น

หากกล่าวถึงภาพรวมของงานนิทรรศการ UABB ที่รีสอร์ท Xichong แห่งนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่สถานที่จัดงานหลักและค่อนข้างไกลจากตัวเมืองเซินเจิ้น แต่ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของแนวความคิดของแต่ละชิ้นงานที่หยิบยกเอาศาสตร์ในแขนงต่างๆ ทั้งวรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ภาษา ภาพยนต์ ปรัชญา ฯลฯ มานำเสนอผ่านผลงานออกแบบ ทำให้ผู้ชมได้รับองความรู้ใหม่ๆ ที่มีส่วนให้เข้าใจถึงการปฏิสัมพันธ์ของเมืองในรูปแบบที่หลากหลาย อีกทั้งการที่ผลงานถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับบริบทและธรรมชาติของที่นี่ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆที่ใม่ใช่แค่ระหว่าง เมือง ผู้คน และเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่ธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้อิสระบังเกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์เมือง ณ ปัจจุบันเช่นกัน

Time: 2019-2020
Venue: Xichong Beach, Dapeng New District, Shenzhen
Curator: Han Jing, Handshake 302
Venue Space Design: Arcity Office
Visual Design: Sure Design
Photo credit: UABB, Bai Yu, Kintoo Photography, Kangshuo Tang,
Weicai Chen, Li Feng, Kulthida Songkittipakdee

    TAG
  • design
  • culture
  • lifestyle
  • art
  • exhibition
  • UABB in Xichong, Shenzhen
  • UABB
  • Urbanism and Architecture bi-city biennale

2019 UABB in Xichong, Shenzhen ปฏิสัมพันธ์เมืองอย่างอิสระ

ART AND EXHIBITION/EXHIBITION
March 2020
CONTRIBUTORS
Kittipong Pruksachat
RECOMMEND
  • DESIGN/EXHIBITION

    Re/Place การปิดทับอดีตเพื่อเปิดเผยความจริงทางการเมือง ของ วิทวัส ทองเขียว

    ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงศิลปะ(กระแสหลัก)ในบ้านเรา มักมีคํากล่าวว่า ศิลปะไม่ควรข้องแวะกับ การเมือง หากแต่ควรเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม สุนทรียะ และจิตวิญญาณภายในอัน ลึกซึ้งมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ศิลปะไม่เคยแยกขาดออกจาก การเมืองได้เลย ไม่ว่าจะในยุคโบราณ ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอํานาจ หรือใน ยุคสมัยใหม่ที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง หันมามองในบ้าน เราเอง ก็มีศิลปินไทยหลายคนก็ทํางานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการสะท้อนและ บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างเข้มข้น จริงจัง

    Panu BoonpipattanapongFebruary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    The Grandmaster : After Tang Chang บทสนทนากับ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินระดับปรมาจารย์แห่งศิลปะสมัยใหม่ไทย โดย วิชิต นงนวล

    เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อปปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทําให้ เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน ไม่ต่างอะไรกับศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทยอย่าง วิชิต นงนวล ที่หลงใหลศรัทธาในผลงานของศิลปิน ระดับปรมาจารย์ในยุคสมัยใหม่ของไทยอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ในวัยของนักเรียน นักศึกษา เรื่อยมาจนเติบโตเป็นศิลปินอาชีพ ความหลงใหลศรัทธาที่ว่าก็ยังไม่จางหาย หากแต่เพิ่มพูน ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สุกงอมออกดอกผลเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ The Grandmaster : After Tang Chang ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างบทสนทนากับศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้นี้

    Panu BoonpipattanapongJanuary 2025
  • DESIGN/EXHIBITION

    Monte Cy-Press ศิลปะจากกองดินที่สะท้อนน้ําหนักของภัยพิบัติ โดย อุบัติสัตย์

    “ยูบาซาโตะ เดินผ่านตามแนวต้นสนขึ้นไปบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปก่อสร้างสถูปดิน และมักจะโดน ทีมงานช่างบ่นทุกวันเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่มีเวลาอยู่อย่างจํากัด เขาเพียงได้แต่ตอบไปว่า .. บุญกุศล นําพาและเวลามีเท่านี้ ขอให้ทําสิ่งดีๆ ให้เต็มที่ ต่อสถานที่บนภูเขานี้เถอะ อย่าบ่นไปเลย เราอาจจะ พบกันแค่ประเดี๋ยวเดียว แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี ... ทีมงานทุกคนเพียงส่งรอยยิ้มที่ เหนื่อยล้ากลับมา ก็เพราะต้องทนร้อนทนแดด และเปียกฝนสลับกันไป จากสภาวะโลกเดือด ที่ทุกคน ต่างพูดถึง แต่ก็จะมาจากใคร ก็จากเราเองกันทั้งนั้น ... แม้จะมาทํางานบนภูเขาก็จริง แต่เขาก็ยังคง คิดถึงเหตุการณ์ภัยน้ําท่วมดินโคลนถล่มที่ผ่านมา อีกทั้งความเสียหายต่อข้าวของที่ต้องย้ายออกจาก บ้านเช่าและค่าใช้จ่ายหลังน้ําท่วมที่ค่อนข้างเยอะพอควร และยิ่งในสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจแบบนี้...

    Panu Boonpipattanapong4 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Kader Attia กับศิลปะแห่งการเยียวยาซ่อมแซมที่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแห่งการมีชีวิต ในนิทรรศการ Urgency of Existence

    หากเราเปรียบสงคราม และอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษย์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ และการล่าอาณานิคม เป็นเหมือนการสร้างบาดแผลและความแตกร้าวต่อมวลมนุษยชาติ ศิลปะก็เป็นหนทางหนึ่งในการเยียวยาซ่อมแซมบาดแผลและความแตกร้าวเหล่านั้น แต่การเยียวยาซ่อมแซมก็ไม่จำเป็นต้องลบเลือนบาดแผลและความแตกร้าวให้สูญหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่การเหลือร่องรอยแผลเป็นและรอยแตกร้าวที่ถูกประสาน ก็เป็นเสมือนเครื่องรำลึกย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกซ้ำเป็นครั้งที่สอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏในนิทรรศการ “Urgency of Existence” นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia) ศิลปินชาวฝรั่งเศส - แอลจีเรีย ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาเป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ที่นำเสนอแนวคิดหลังอาณานิคม และการปลดแอกอาณานิคม จากมุมมองของตัวเขาเอง ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผู้ที่เคยถูกกดขี่และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา

    Panu Boonpipattanapong4 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Roma Talismano ชำแหละมายาคติแห่งชาติมหาอำนาจด้วยผลงานศิลปะสุดแซบตลาดแตก ของ Guerreiro do Divino Amor

    ในช่วงปลายปี 2024 นี้ มีข่าวดีสำหรับแฟนๆ ศิลปะชาวไทย ที่จะได้มีโอกาสชมผลงานศิลปะร่วมสมัยของเหล่าบรรดาศิลปินทั้งในประเทศและระดับสากล ยกขบวนมาจัดแสดงผลงานกันในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในเทศกาลศิลปะครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปิน 39 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา (Gaia) ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

    EVERYTHING TEAM5 months ago
  • DESIGN/EXHIBITION

    Apichatpong Weerasethakul : Lights and Shadows นิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน Centre Pompidou ของศิลปินผู้สร้างแสงสว่างในความมืด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เมื่อพูดถึงชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เจ้ย มิตรรักแฟนหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความเป็นศิลปะที่สุด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงในสากลโลก ยืนยันด้วยรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง (Un Certain Regard) จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) (2002) และรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury Prize) จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) (2004) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2002 และ 2004, หรือภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) (2006) ของเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ในปี 2006 และคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ในปี 2007, และภาพยนตร์เรื่อง รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendor) (2015) ของเขาก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Asia Pacific Screen Awards ในปี 2015, ที่สำคัญที่สุด อภิชาติพงศ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ (Palm d’or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2010 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) (2010), และล่าสุด ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria (2021) ยังคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 มาครองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

    Panu Boonpipattanapong6 months ago
SIGN UP TO OUR NEWSLETTER
A Monthly update of the new issue from us
THANK YOU FOR YOUR SUBSCRIPTION

We use cookies, localStorage and other technologies (collectively, "cookies") to recognise your browser or device, learn more about your interests, and provide you with essential features and services and for additional purposes. ( see details )